Finance

โค้งสุดท้ายหุ้นไทย! นักวิเคราะห์ประสานเสียง ไตรมาส 4 ยังเหนื่อย

SET Index 2020 นักวิเคราะห์ประสานเสียง หุ้นไทยไตรมาส 4 ยังเหนื่อย! “เอเซียพลัส” มองปรับขึ้นยาก เหตุเศรษฐกิจฉุด “ทรีนีตี้” มองยังผันผวนสูง ให้กรอบที่ 1,190-1,270 จุด ด้าน “บล.ไทยพาณิชย์” คาดทำระดับต่ำสุดในไตรมาสนี้

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในเดือนกันยายน 2563 ปรับลดลงเล็กน้อย โดย SET Index ปิดที่ 1,237.04 จุด ลดลง 5.6% จากเดือนก่อน และปรับลดลง 21.7% จากสิ้นปีก่อน เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปี พบว่า กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มบริการ และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ปรับตัวดีกว่า SET Index

นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หมวดธุรกิจการเกษตร และหมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์

ส่วนมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 47,896 ล้านบาท ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 64,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ ในเดือนนี้ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยคิดเป็น 43.51% ของมูลค่าการซื้อขายรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี ในขณะที่ผู้ลงทุนต่างประเทศยังมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2563 ขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยกว่า 2.76 แสนล้านบาท โดยผู้ลงทุนกลุ่มอื่นเป็นผู้ซื้อสุทธิ

SET Index

หากประเมินสถานการณ์ SET Index  กูรูตลาดหุ้นส่วนใหญ่ มองว่า หุ้นไทยไตรมาส 4 ยังเหนื่อย! เนื่องจากยังมีปัจจัยหลักๆ ที่กดดันทั้งสถานการณ์ “โควิด” ที่ยังระบาดรุนแรงทั่วโลก รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังไม่แน่นอน

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนปรับขึ้นได้ยาก เพราะถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดหดตัว 8.4% และการปรับลดกำไรของบริษัทจดทะเบียนปีนี้คาดอยู่ที่ 613,000 ล้านบาท หรือ 56.65 บาทต่อหุ้น แต่แนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มทยอยดีขึ้น หลังการคลายล็อกดาวน์ ทำให้สำนักวิเคราะห์เริ่มปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปีนี้ ขณะที่งบประมาณปี 2564 ไม่ล่าช้าเหมือนที่คาด รวมทั้งการมีมาตรการการคลังช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ทำให้คาดการณ์ว่าการปรับลงของจีดีพีและกำไรบริษัทจดทะเบียนถึงจุดสิ้นสุดแล้ว และปี 2564 กำไร บจ.จะกลับมาขยายตัว 25% อยู่ที่ 785,000 ล้านบาท หรือ 72.51 บาทต่อหุ้น ส่วนจีดีพีปี 2564 ขยายตัว 3-4 %

อย่างไรก็ตาม ยังมี 5 ปัจจัยที่กดดัน คือ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังสูง ทำให้เกิดการล็อกดาวน์บางประเทศ, การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563, สถานการณ์การเมืองในประเทศ, การปรับพอร์ตเพื่อเตรียมซื้อหุ้นบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ก่อนเข้าตลาดของนักลงทุนสถาบัน มีโอกาสกดดันหุ้นขนาดใหญ่ระยะสั้น, การปรับเกณฑ์ Celling&Floor และ Short Sell กลับมาปกติ

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นยังมีปัจจัยหนุนจากสภาพคล่องที่ล้นระบบ โดยมีเงินฝากถึง 15.5 ล้านล้านบาท และรอเข้ามาในตลาดหุ้น หากปัจจัยที่กดดันเริ่มผ่อนคลาย โดยวางเป้าหมายดัชนีปี 2564 อยู่ที่ 1,450 จุด แต่ถ้าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% เงินจะไหลเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น ดัชนีมีโอกาสปรับขึ้นถึง 1,526 จุด โดยถือเป็นจังหวะสะสมหุ้นพื้นฐานดี ราคาถูก แนะลงทุนหุ้นขนาดกลาง เล็ก เช่น ASK, DOHOME, INSET, MTC NOBLE และ STGT และให้ระมัดระวังหุ้นที่ราคาเกินมูลค่าพื้นฐานไปมาก เช่น MINT และ LPN และให้กระจายการลงทุนไปต่างประเทศในกลุ่ม New Economy เช่น กลุ่มเทคโนโลยีและสินค้าบริโภค

SET Index

ทรีนีตี้ มองตลาดหุ้นเดือนตุลาคมยังผันผวนสูง

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผย ถึงทิศทางการลงทุนเดือนตุลาคมว่า ภาพรวมมองกรอบการแกว่งตัวของดัชนี ที่ 1,190-1,270 จุด อิงค่าพี/อีล่วงหน้าระหว่าง 15.7-16.8 เท่า ภายใต้สมมุติฐานอัตรากำไรสุทธิของตลาด(EPS) จะไม่ถูกปรับลดลงอีก

โดยประเมินดัชนีตลาดหุ้นในเดือนนี้จะมีความผันผวนรุนแรงขึ้น จากกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์กลับมาใช้เกณฑ์ปกติในการชอร์ตเซลหุ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม , การเข้าสู่ช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ซึ่งทางทรีนีตี้ประเมินว่ามีโอกาสสร้างความผิดหวังให้กับตลาดได้ ทั้งในแง่ของงบฯไตรมาส 3 เอง และแนวโน้มกำไรปีหน้าที่ ซึ่งจะนำมาสู่การปรับลดประมาณการ EPS ของตลาดครั้งใหม่ได้ รวมทั้งการหมดอายุมาตรการพักชำระหนี้ของธปท. ซึ่งอาจเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการรวมไปถึงประชาชนในประเทศมากยิ่งขึ้นได้ ขณะที่ปัจจัยภายนอกนั้น คาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะเข้าสู่ช่วงของการแกว่งตัวผันผวนมากขึ้น เมื่อเข้าใกล้กับช่วงของการเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ ในวันที่ 3 พ.ย.เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่ผลลัพธ์นั้นยังประเมินได้ยาก

ทั้งนี้ได้ประเมินกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจเป็นเป้าหมายของการถูกชอร์ตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากเป็นกลุ่มหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการในระยะสั้นน่าผิดหวัง แถมยังซื้อขายด้วย Valuation ในระดับสูง เช่นในกลุ่ม โรงแรม สนามบิน ค้าปลีก สื่อสาร เป็นต้น ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนส.ค.พบว่าโมเมนตัมของการฟื้นตัวเริ่มอ่อนแรงลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคภายในประเทศที่หดตัวมากขึ้น

พร้อมมองหุ้นขนาดกลางและเล็กยังคงเป็นทางเลือกที่ดีในภาวะปัจจุบัน เนื่องจากมีปัจจัยหนุนหลายด้าน ทั้งจาก Valuation ที่อยู่ในระดับสมเหตุสมผล อัตราการเติบโตของกำไรที่จูงใจ โมเมนตัมการปรับประมาณกำไรที่แข็งแกร่ง และสภาพคล่องของนักลงทุนทั่วไปที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ล่าสุดธปท.รายงานตัวเลขฐานเงินอย่างกว้างประจำเดือนส.ค.พบเติบโตสูงในระดับ 10.6% มองเป็นปัจจัยหนุนระดับการมีส่วนร่วมของนักลงทุนทั่วไป ซึ่งถือเป็นอานิสงส์ทางอ้อมต่อหุ้นขนาดกลาง-เล็ก โดยแนะนำ 10 หุ้น ได้แก่ ASIAN, CHAYO, ICHI, ILINK, JMART, PRM, PTG, STGT, UTP, และ WICE

SET Index

บล.ไทยพาณิชย์ คาดหุ้นดัชนีอาจหลุด 1,200 จุดได้ในระยะสั้นๆ

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในเดือนตุลาคม นี้ มีแนวโน้มทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,250 – 1,200จุด และอาจจะหลุด 1,200 จุดได้ในระยะสั้นๆ เนื่องจากมีปัจจัยกดดันตลาด คือ สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังมีความไม่แน่นอน นักลงทุนยังรอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ติดตามการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ และ รอการประกาศผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/64 โดยเฉพาะสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ดังนั้นจึงจะกดดันภาพรวมการลงทุนในเดือนนี้

อย่างไรก็ตามระดับดัชนีที่ 1,250 จุด ก็เป็นระดับดัชนีที่มีความน่าสนใจในการเข้าสะสม ก่อนที่ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯจะออกมาชัดเจน และมีแรงซื้อหุ้นกลับเข้ามาดันดัชนีในช่วงหลังประกาศผลการเลือกตั้งสหรัฐฯออกมา ซึ่งน่าจะผลักดันให้ดัชนี SET ปิดตัวในปีนี้ที่ระดับ 1,300 จุด

ส่วนในปี 64 คาดการณ์ว่าดัชนี SET จะอยู่ที่ระดับ 1,400 จุด จากความชัดเจนเรื่องการผลิตวัคซีนรักษาโควิด-19 ทำให้ตลาดคลายความกังวลลง และจะเริ่มเห็นการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น ขณะเดียวกันภาวะอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จนถึงปี2566 ทำจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น

สำหรับคำแนะนำการลงทุนโค้งสุดท้าย เน้นเลือกซื้อหุ้นรายตัว ดังนี้ Core Portfolio ยังคงเน้นหุ้น defensive ที่มีคุณภาพสูง เช่น BAM, BDMS, CBG, EGCO และ GFPT , Tactical Portfolio เน้นหุ้นที่ปรับตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรเศรษฐกิจในประเทศที่มีคุณภาพดี เช่น AP, PTT และ TOP และ S-Curve Portfolio เน้นหุ้นขนาดเล็กที่มี story การเติบโตอย่างโดดเด่น และผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เช่น AUCT, IIG, PRIME, SVI, WICE และ ZIGA

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo