Business

ทางรอด! อุตสาหกรรมไมซ์ไทย ฝ่าโควิด หวัง ‘เปิดประเทศ’ กู้ตลาดแสนล้านฟื้น

อุตสาหกรรมไมซ์ไทย เดินหน้าฝ่าโควิด หลังปี 63 รายได้ลดจากเป้า 2.32 แสนล้าน เหลือ 6.13 หมื่นล้าน หวังผ่อนคลายกฏ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ พร้อมเข้าไทย

อุตสาหกรรมไมซ์ เคยเป็นธุรกิจดาวรุ่ง จากความพร้อมในทุกด้านที่มี แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 อุตสาหกรรมไมซ์ไทย ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง เมื่องานประชุมสัมนนา ต้องถูกยกเลิกไปจำนวนมาก ส่งผลให้ทั้งรายได้และจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ ลดวูบกว่า 60%

 อุตสาหกรรมไมซ์ไทย

ที่ผ่านมา ธุรกิจงานแสดงสินค้านานาชาติในไทย มีมูลค่าต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 26 ของโลก และอันดับที่ 8 ของเอเชีย โดยประเทศไทย ถูกจัดเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดกิจกรรมไมซ์ อันดับที่ 2 ของโลก ทั้งยังมีแนวโน้มของการจัดงานประชุมที่ใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นอันดับที่ 4 ของเอเชียและเแปซิฟิก

ขณะเดียวกันยังมียอดพื้นที่จัดงานแสดงสินค้านานาชาติ อยู่ในอันดับที่ 1 ของอาเซียน มีจำนวนของการจัดประชุมนานาชาติอันดับที่ 27 ของโลก และอันดับที่ 5 ของเอเชีย ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่ดึงดูดนักเดินทางธุรกิจมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย

ความโดดเด่นทั้งหมดนี้ กลับถูกโควิดซัดกระหน่ำอย่างหนักหน่วง ส่งผลให้ในปี 2563 ประเทศไทย มีนักเดินทางไมซ์รวมทั้งสิ้น 10.4 ล้านคน สร้างรายได้ 61,317 ล้านบาท แบ่งเป็น นักเดินทางไมซ์ต่างชาติ 500,090 คน สร้างรายได้ 29,819 ล้านบาท ส่วนนักเดินทางไมซ์ในประเทศ มีจำนวนรวม 9.9 ล้านคน สร้างรายได้ 31,498 ล้านบาท

8OCT อุตสาหกรรมไมซ์ไทย

ในส่วนของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ประมาณการได้ว่าตลอดปีงบประมาณ 2563 ก่อให้เกิดการใช้จ่ายจากการจัดกิจกรรมไมซ์รวมมูลค่ากว่า 165,823 ล้านบาท สร้างรายได้ประชาชาติ 162,976.01 ล้านบาท ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้จากการจัดกิจกรรมไมซ์ 11,590 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างแรงงาน 95,314 อัตรา

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยอย่างหนัก แต่หากมีการผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศ และสถานการณ์โควิด ดีขึ้น เชื่อว่า จะส่งผลให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทย กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

ดังนั้น ในปี 2564 ทีเส็บ ยังวางเป้าหมายไมซ์ไทย จะเติบโตได้ประมาณ 3.5% ซึ่งเห็นแนวโน้มได้จากถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนงานที่ ทีเส็บ ให้การสนับสนุนแล้วประมาณ 70 งาน

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

“เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะโต 3.5% ในปี 2564 ถือว่ามีความท้าทายอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องทำให้ได้ เพราะเสนอให้กับคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เห็นชอบแล้ว แม้สถานการณ์โควิด-19จะยังระบาดไม่เลิก แต่ในการทำงานกระตุ้นตลาดไมซ์ยังคงทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะการหันมากระตุ้นอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศแทน ทั้งการจัดงานประชุม สัมมนา ตลอดทั้งปี 2564″นายจิรุตถ์ กล่าว

พร้อมกันนี้ อุตสาหกรรมไมซ์ไทย ยังฝากความหวังไว้กับการเปืดประเทศ เพื่อรับต่างชาติเข้ามาจัดงานในประเทศไทย โดยขณะนี้ มีประเทศเป้าหมาย ที่มีความพร้อมเข้ามาจัดงานในไทยแล้ว ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ แต่ยังต้องการให้รัฐบาลผ่อนปรน ในเรื่องต่างๆ เช่น ระยะเวลากักตัว การอำนวยความสะดวก ซึ่งทีเส็บจะนำเรื่องไปหารือกับ ศบค. ในการจัดทำข้อตกลงพิเศษด้านการเดินทางเฉพาะกลุ่ม (Special Arrangement) ต่อไป

ขณะเดียวกัน ทีเส็บ ยังได้วาง 4 กลยุทธ์ สำหรับปลุกตลาดไมซ์ในปี 2564 ภายใต้แนวคิด “ไมซ์วิถีใหม่ เติบโตอย่างยั่งยืน” เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้ประเทศ ได้แก่

111 1

  • การกระตุ้นตลาดในประเทศ

จะมุ่งเน้นกระจายงานสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และชาวบ้าน พร้อมกับยกระดับการจัดงานไมซ์ในภูมิภาคให้เป็นงานระดับประเทศ โดยใช้องค์ประกอบต่าง ๆ ของชุมชน หรือท้องถิ่นเป็นอัตลักษณ์จุดขายของจุดหมายปลายทาง ตั้งเป้าให้มีการเดินทางโดยเร็วที่สุดภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม – ธันวาคม 2563)

ทั้งนี้ แพ็คเกจสนับสนุนหลัก ในการกระตุ้นการจัดงานไมซ์ในประเทศคือ การสานต่อ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” ด้วยการใช้งบเพิ่มเติมอีก 10 ล้านบาท ส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐและเอกชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ไปยังชุมชน ในภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านการจัดประชุมสัมมนาในประเทศ การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล  การอบรม กิจกรรมเพื่อสังคม กิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ใช้สถานที่ในประเทศภายในเดือนธันวาคม 2563

ขณะเดียวกัน “ทีเส็บ” ยังพร้อมขับเคลื่อนงานแสดงสินค้าในประเทศควบคู่กันไป ผ่านโครงการบูรณาการร่วมมือภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐเอกชน หรือที่เรียกว่า “Empower Thailand Exhibition” (EMTEX) ตลอดปี 2564

  • การดึงงานนานาชาติ

เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ผ่านเวทีการจัดงานแสดงสินค้าเจาะรายอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากการจัดทำแผนแม่บทงานแสดงสินค้านานาชาติ ภายใต้แคมเปญ ”THAILAND LOG-IN EVENTS” หนุนงานแสดงสินค้านานาชาติในกลุ่มลอจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างงานใหม่ ขยายงานเดิม กระจายงานสู่ภูมิภาค และประมูลสิทธิ์การจัดงานระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

8OCT กลยุทธ์ฟื้นตลาดไมซ์ไทย ปี 2564

นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตัวแนวคิด “FESTIVAL ECONOMY” การสร้างมรดกทางเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมการจัดงานเทศกาลกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค เพื่อสร้างมูลค่าและการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่และจังหวัดต่าง ๆ

พร้อมกันนี้ ได้เตรียมแผนดึงงานไมซ์ในตลาดต่างประเทศผ่านตัวแทนการตลาดใน 7 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ ยุโรป และอเมริกาเหนือ ทั้งยังจะศึกษาตัวแทนตลาดในประเทศใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย

  • การขับเคลื่อนไมซ์ด้วยนวัตกรรม

การพัฒนาการจัดงานรูปแบบออนไลน์ และรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 ทีเส็บ เตรียมสนับสนุนการใช้ Virtual Meeting Space (VMS) แพลตฟอร์ม หรือ การส่งเสริมการจัดประชุมและงานแสดงสินค้าออนไลน์ ประกอบด้วย การจัดแสดงสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และการประชุมสัมมนาเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ (Webinar) รวม  8 งาน เป็นต้น

  • การพัฒนาระบบนิเวศไมซ์ไทย

ด้านการพัฒนาระบบนิเวศไมซ์ไทย ได้วางแผนจัดตั้ง ศูนย์ประสานการอำนวยความสะดวกธุรกิจไมซ์ (One-Stop Service Center for MICE) เพื่อให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาในการจัดงาน เชื่อมโยงธุรกิจครบวงจรด้วยระบบดิจิทัล บูรณาการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบและมาตรการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ รวมทั้งการประสานงานให้บริการจัดงานไมซ์ให้กับหน่วยงานรัฐ

นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึง การพัฒนาการให้บริการไมซ์เลน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเดินทางไมซ์ ที่เข้ามายังประเทศไทยทั้งในเรื่องของพิธีการตรวจคนเข้าเมือง บริการ Fast Track, Visa on Arrival และการดูแลด้านสุขอนามัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo