World News

โควิด-19 ทำเศรษฐกิจปั่นป่วน ‘กัมพูชา’ ลั่นไม่ขึ้นเงินเดือน ‘ทหาร-ข้าราชการ’

“ฮุนเซน” ลั่นปีหน้าไม่ขึ้นเงินเดือน “ข้าราชการ-ทหาร”  เหตุ โควิด-19 ทำ เศรษฐกิจ กัมพูชา ปั่นป่วน คาดจีดีพีติดลบ 1.9% 

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระบุว่า จะไม่มีการขึ้นค่าแรงสำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่กองทัพในปี 2564 สืบเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

กัมพูชา เศรษฐกิจ โควิด-19

“สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เราจะไม่มีการขึ้นเงินเดือนสำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่กองทัพใดๆ ในปี 2564” ฮุนเซนกล่าวระหว่างพิธีเปิดสวนสนุกในจังหวัดก็อนฎาล

อย่างไรก็ดี ฮุนเซนระบุว่าคนกลุ่มนี้จะยังได้รับเบี้ยเลี้ยงในวันขึ้นปีใหม่ของกัมพูชาและเทศกาลพจุมเบ็ญ (Pchum Ben) หรือวันบรรพบุรุษ

พร้อมเสริมว่า สืบเนื่องจากการระบาดของโรค โควิด-19 คาดว่า เศรษฐกิจ กัมพูชา จะหดตัว 1.9% ในปีนี้ ก่อนฟื้นกลับมาเติบโต 3.5% ในปี 2564 เนื่องด้วยการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ภายนอกประเทศ

ทั้งนี้ วานนี้ (7 ต.ค. 63) กระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชาระบุว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมในประเทศอยู่ที่ 280 ราย และไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต ส่วนผู้ป่วยที่หายดีอยู่ที่ 276 ราย

เศรษฐกิจ โควิด-19 กัมพูชา

“ท่องเที่ยว” เสาหลักเศรษฐกิจฟุบ

แถลงการณ์จาก อังกอร์ เอ็นเตอร์ไพร์ส (Angkor Enterprise) ของกัมพูชา เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาระบุว่า อุทยานโบราณคดีอังกอร์หรือหมู่ปราสาทนครวัดได้ต้อนรับผู้เข้าชมชาวต่างชาติ 396,241 คน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลง 76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุทยานฯ ทำรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน คิดเป็นเงิน 18.45 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 583 ล้านบาท ลดลง 75% เมื่อเทียบเป็นรายปี

หากนับเฉพาะเดือนกันยายน อุทยานฯ ได้ต้อนรับผู้เข้าชมชาวต่างชาติ 2,948 คน และมีรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม 124,296 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.92 ล้านบาท ลดลง 97.3% และ 97.4% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนกันยายนปีก่อน

อุทยานโบราณคดีอังกอร์ตั้งอยู่ในจังหวัดเสียมราฐทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) เมื่อปี 2535 และถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของกัมพูชา

จำนวนชาวต่างชาติที่เข้าชมอุทยานฯ ลดลงอย่างมาก เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งทำให้กัมพูชาต้องบังคับใช้ข้อจำกัดการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติทั้งหมดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งใน 4 เสาหลักค้ำจุนเศรษฐกิจกัมพูชา โดยปี 2562 กัมพูชาต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 6.6 ล้านคน และทำรายได้รวม 4.9 พันล้านดอลลาร์  หรือราว 1.5 แสนล้านบาท

โควิด-19 ดันยอดส่งออกข้าวพุ่งพรวด

แต่ในอีกมุมหนึ่ง กัมพูชาได้ส่งออกข้าวสารรวม 488,785 ตัน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

แถลงการณ์จากสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF)  ระบุว่ากัมพูชากวาดรายได้จากการส่งออกข้าวรวมกว่า 328 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 หมื่นล้านบาท ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

“ช่วง 9 เดือนของการส่งออกข้าวในปีนี้ จีนครองตลาดส่งออกรายใหญ่สุดที่ 171,896 ตัน หรือคิดเป็น 35% ของตลาดส่งออกทั้งหมด ตามมาด้วยสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งอยู่ที่ 161,614 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 33%” แถลงการณ์เผย

ขณะเดียวกัน กัมพูชาได้ส่งออกข้าวไปยังตลาดอาเซียนรวม 67,433 ตัน จากปริมาณที่ส่งออกทั้งหมด โดยกัมพูชาได้ส่งออกข้าวไปยัง 69 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก

ด้าน งิน ชัย (Ngin Chhay) อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สังกัดกระทรวงการเกษตร ป่าไม้ และการประมงของกัมพูชา ชี้ว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ผลักดันให้ความต้องการซื้อข้าวกัมพูชาพุ่งสูงขึ้น พร้อมคาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศอาจสูงแตะ 800,000 ตันในปีนี้ เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 620,106 ตัน

ทั้งนี้ กัมพูชาผลิตข้าวเปลือกได้ราว 10 ล้านตันในปี 2562 ทำให้กัมพูชามีข้าวเปลือกเกินดุลราว 5.6 ล้านตัน เทียบเท่าข้าวสาร 3.5 ล้านตัน

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo