Business

เกินคุ้ม! อัดฉีด 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้าน ดันเงินเข้าระบบ 2 แสนล้าน

อัดฉีด 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านบาท ศบศ.เผย สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าระบบสูงถึง 2 แสนล้านบาท พร้อมกระตุ้นต่อเนื่อง

ที่ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบศ.) เปิดเผยว่า จากการ อัดฉีด 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ งบประมาณ 6 หมื่นล้านบาท สำหรับ 3 โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าระบบเศรษฐกิจได้ถึง 2 แสนล้านบาท

อัดฉีด 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาล ดำเนินการ ประกอบด้วย

  • การเพิ่มวงเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 500 บาท จำนวน 14 ล้านคน ในเดือน ตุลาคม-ธันวาคม 2563 รวมกับการให้วงเงินก่อนหน้านี้ เป็นงบประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท
  • โครงการคนละครึ่ง จากกลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านคน ภาครัฐร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ผ่านฝ่ายของผู้ซื้อร้อยละ 50 โดยไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาท ต่อคน เป็นวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท และอีก 30,000 ล้านบาท จากผู้เข้าร่วมโครงการจ่าย รวมเม็ดเงินเข้าระบบ 60,000 ล้านบาท
  • ล่าสุดได้จัดทำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” โดยให้สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงหนังสือ และสินค้า OTOP ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท เริ่ม 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 คาดว่ารัฐบาลจะจ่ายชดเชยภาษีประมาณ 1-1.2 หมื่นล้านบาท แต่มีเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจประมาณ 1.2 แสนล้านบาท จากการใช้จ่ายของประชาชน 4 ล้านคน

ดังนั้น เมื่อรวมทั้ง 3 โครงการดังกล่าว โดยไม่รวมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และกำลังใจ รัฐบาลจะใช้งบประมาณอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท แต่สามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้เชื่อว่า ในช่วง 3 เดือนจากนี้ เม็ดเงินที่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาท จะช่วยประคับประคองให้ธุรกิจและคนไทย อยู่รอดได้ ในภาวะที่ยังเปิดประเทศไม่เต็มที่

เที่ยวแจกเงิน ๒๐๑๐๐๗ 1

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบศ. ยังได้ปรับปรุงมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “กำลังใจ” โดยเพิ่มสิทธิ์ ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จำนวน 570 คน และเจ้าหน้าที่ หัวหน้างานสาธารณสุขมูลฐาน และ งานสุขภาพภาคประชาชน ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2,615 คน สามารถเข้าร่วมโครงการกำลังใจได้

สำหรับ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน สามารถใช้บริการโรงแรมที่พัก และใช้ E-Voucher สำหรับค่าสนับสนุนอาหาร ค่าเข้าชมแหล่งท่องเที่ยว ค่าสินค้า OTOP ในจังหวัดภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านได้ โดยขยายระยะเวลาไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 พร้อมทั้งอนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการกำลังใจ และเราเที่ยวด้วยกัน ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ศบศ. ยังได้พิจารณาเตรียมมาตรการกระตุ้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้วยการเตรียมหามาตรการผ่อนคลาย กลุ่มขาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยผ่อนปรนสมาร์ทวีซ่า สำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระ ผู้บริหาร เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ฝั่งภาคเอกชนกลุ่มโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ยังเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นการเข้าพัก ด้วยการเสนอห้องพักราคาพิเศษ สำหรับลูกค้าองค์กร ที่มีการจองห้องพักจำนวนมาก โดยมอบหมายให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้ประสานงานโครงการ

สำหรับรายละเอียดโครงการ “ช้อปดีมีคืน” มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2563 จากกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงสูง ที่อยู่ในระบบฐานภาษี ซึ่งมีประมาณ 4 ล้านคน หากมีการจับจ่ายคนละ 3 หมื่นบาท รวม 4 ล้านคน จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ ช่วง 3 เดือน สูงถึง 1.2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไข คือ หากประชาชนได้ใช้สิทธิ์ตาม โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ โครงการคนละครึ่ง แล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo