Business

5 หน่วยงานร่วมมือพัฒนา ‘พลาสติกเหลือใช้’ เป็นถนน นำร่อง ‘ระยอง-อยุธยา’

5 หน่วยงานร่วมมือพัฒนา “พลาสติกเหลือใช้” สร้างถนน “ทางหลวง-ทางหลวงชนบท” ลุยนำร่อง “ระยอง-อยุธยา” คาด 1 ปีรู้ผล

วันนี้ (7 ต.ค. 63) 5 หน่วยงานประกอบด้วย กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เอสซีจี (SCG) กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (DOW) และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนามความร่วมมือศึกษาและพัฒนาการนำ “พลาสติกเหลือใช้” เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงาน สร้างถนน ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรง และยืดอายุการใช้งานของทาง หวังสร้างมาตรฐานใหม่ให้การทำถนนของประเทศ ตอบโจทย์การส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดคล้องตามนโยบาย BCG Economy (Bio – Circular – Green Economy) ของรัฐบาล

พลาสติกเหลือใช้ สร้างถนน

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือด้านวิชาการ ทรัพยากร และการบริหารจัดการที่ภาคเอกชน โดยเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จะนำประสบการณ์และเทคโนโลยีการทำถนนพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ศึกษาและพัฒนาโครงการนี้

ด้านมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมศึกษางานวิชาการ รวมถึงผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม ตลอดจน ทล. และ ทช. ได้เข้ามาร่วมศึกษาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานการนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีต หากโครงการฯ สำเร็จ จะสามารถขยายผลไปสู่การทำถนนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยได้จริง

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ทล. จะนำร่องนำพลาสติกเหลือใช้มาก่อสร้างถนน ระยะทาง 500 เมตร ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 ในจังหวัดอยุธยา เนื่องจากเป็นเขตอุตสาหกรรมจึงมีวัสดุมาก คาดว่าจะใช้เวลาทดสอบประมาณ 1 ปี

หากผลการทดสอบออกมาดี ก็คาดว่าจะใช้ดำเนินการสร้างถนนได้จริงในปี 2565 โดยถนน 1 กิโลเมตร กว้าง 10 เมตร ใช้ยางมะตอย 60 ตันและสามารถนำพลาสติกมาใช้ผสม 3 ตัน ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนได้ 10%

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ในปี 2563 ทช. ได้ทดลองนำพลาสติกเหลือใช้มาก่อสร้างถนนที่จังหวัดสระบุรี ด้านปี 2564 กำลังพิจารณาโครงการนำร่องต่อเนื่อง แต่เบื้องต้นกำหนดพื้นที่เป้าหมายเป็นจังหวัดระยอง เนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม มีแหล่งวัตถุดิบมาก

2019 07 09 11 14 11

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีมุ่งนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มาประยุกต์ใช้ทั้งในองค์กรและสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนมากว่า 2 ปี ด้วยเห็นถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกที่ยังขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

หนึ่งในนั้นคือการร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เพื่อทำต้นแบบ ถนน ที่มีส่วนผสมของ พลาสติก ที่เหมาะสมต่อการใช้งานถนนในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นได้อีกด้วย

เอสซีจี จึงยินดีอย่างยิ่งที่ ทล. และ ทช. เห็นถึงประโยชน์ในการนำประสบการณ์และองค์ความรู้จากการทำถนนจากพลาสติกรีไซเคิลของเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มาต่อยอดพัฒนาโครงการนี้ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเอสซีจีจะให้คำปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการจัดหาเศษพลาสติกเหลือใช้ อาทิ ชนิดและคุณภาพ รวมทั้งวิธีการแปรรูป อาทิ การล้าง บดย่อย และบรรจุ เพื่อให้พร้อมต่อการใช้งาน และยังจะเดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อให้สามารถนำขยะพลาสติกจากองค์กรและชุมชนมาใช้ประโยชน์ในโครงนี้ได้ โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถผลักดันโครงการดังกล่าวไปสู่การเป็นมาตรฐานการทำถนนของภาครัฐ เพื่อใช้งานจริงในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้ต่อไป

พลาสติกเหลือใช้ สร้างถนน

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มบริษัทดาว ได้ริเริ่มโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลมาแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทางออกให้กับขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ยาก ให้เกิดการนำกลับมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งยังสร้างความตระหนักในด้านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยลดขยะเทียบเท่ากับบรรจุภัณฑ์พลาสติกกว่า 50 ล้านถุงแล้ว

โครงการ ถนน พลาสติก นี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการก่อสร้างถนนซึ่งช่วยให้มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้นกว่าการใช้ยางมะตอยตามปกติ และยังเป็นประโยชน์ต่อการจัดการขยะ เพราะช่วยนำพลาสติกเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่า ช่วยลดปริมาณพลาสติกที่จะต้องถูกทิ้งเป็นขยะ

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกสู่ภาคประชาสังคม โดยมุ่งเน้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals; SDG ) และพัฒนาสู่การเป็นเมืองต้นแบบอัจฉริยะ พลังงานสะอาด สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ขยายผลสู่การพัฒนาชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยและจังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความยินดีที่ทราบว่า ทล. และ ทช. ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการจัดการขยะพลาสติกนี้เช่นกัน และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนในด้านวิชาการและทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อจะส่งเสริมและผลักดันให้เกิดมาตรฐาน ถนน ใหม่ที่มีส่วนผสมของขยะ พลาสติก สำหรับประเทศไทยต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo