Economics

จับตา! ‘ศบศ.’ เตรียมปลุก ‘ชิมช้อปใช้-ช้อปช่วยชาติ’ กระตุ้นเศรษฐกิจ

ชิมช้อปใช้ – ช้อปช่วยชาติ “ศบศ.” เดินหน้าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน มั่นใจหาก ครม. ไฟเขียวสามารถเดินหน้าโครงการได้เลย ลั่นมาตรการใหม่จะถูกฝาถูกตัวมากขึ้น

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้หารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการชิมช้อปใช้ และ ช้อปช่วยชาติ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอให้ ศูนย์บริหารเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 หรือ ศบศ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 7 ตุลาคม 2563 โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน จะมี 2 มาตรการ ได้แก่ ชิมช้อปใช้ และ ช้อปช่วยชาติ โดยชื่ออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ชิมช้อปใช้

“ทั้ง 2 มาตรการ ได้กำหนดการดำเนินการไว้แล้ว คาดว่าหลังผ่าน ศบศ. และเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ก็จะดำเนินโครงการได้เลย สำหรับรายละเอียดมาตรการกำลังพิจารณาดูอยู่มีหลายวิธี เช่น มาตรการชิมช้อปใช้อาจจะเป็นการให้ร่วมจ่าย ไม่ได้ให้เงินฝ่ายเดียวเหมือนที่ผ่านมา” นายกฤษฎา กล่าว

ส่วนมาตรการช้อปช่วยชาติ ก็จะดูว่าจะให้นำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ หรือ จะคืนเป็นเงินสดให้ หรือ แคชแบ็ค ซึ่งผลที่จะออกมาเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นให้แรงจูงใจจากมาตรการภาษี หรือ มาตรการทางการเงิน

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น แนวทางเบื้องต้น ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จะเน้นให้ความช่วยเหลือ กับผู้ประกอบการ หรือ กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความชัดเจน และ ถูกฝาถูกตัวมากขึ้น เพื่อให้ผลที่ออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาจะต้องชัดเจน ถูกฝาถูกตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเคยทำมาแล้ว ในเรื่องบุคคลธรรมดา คลังก็พยายามออกแบบหลายมาตรการ ให้ถูกฝาถูกตัว เพราะเป้าหมายหลัก คือ ต้องการดูแลเศรษฐกิจในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี งบประมาณ รายจ่าย สินเชื่อ โดยที่ผ่านมาแนวโน้มเศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ” นายกฤษฎา กล่าว

ดังนั้น การช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือกลุ่มต่าง ๆ ที่จะทำหลังจากนี้ต้องเริ่มทำให้ถูกฝาถูกตัว โดยมีการเชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาหารือ เพื่อให้ สศค.นำแนวทางทั้งหมดไปวางแผนให้ชัดเจนเพื่อดำเนินการในระยะต่อไป ไม่เพียงระยะสั้น แต่ยังมองระยะกลาง และระยะยาวด้วยว่า ควรจะมีมาตรการอะไรบ้าง ซึ่งการประชุมกันในวันนี้ เพื่อนำข้อเสนอแนะจากทุกหน่วยงานมาพิจารณาการทำมาตรการของกระทรวงการคลังที่ออกมาจะต้องเดินหน้าได้จริง ไม่ฝัน ทำแล้วต้องเห็นผลอย่างแท้จริง

ชิมช้อปใช้

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ได้หารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันชัดเจนว่า แผนการกู้เงินของรัฐบาลในช่วง 5 ปี จะไม่ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศขยายตัวเกิน 60% ของจีดีพี โดยจากประมาณการพบว่าสูงสุดจะอยู่ที่ 57% ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง และกรอบความยั่งยืนทางการคลังตลอด 5 ปีจากนี้ ส่วนงบประมาณขาดดุลจะอยู่ที่ไม่เกิน 3% ของจีดีพี ซึ่งใกล้เคียงกับระดับปกติที่ผ่านมาที่งบประมาณขาดดุลจะอยู่ที่ 2.8 – 2.9% ของจีดีพี

ขณะที่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.67 ล้านล้านบาท ภายใต้ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2564 ที่ สศค. ประเมินว่าจะขยายตัวที่ 4-5% โดยทุกหน่วยงานยืนยันว่า สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะมีขั้นตอน วิธีการที่เตรียมพร้อมไว้แล้ว แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่า ปีงบประมาณ 2564 จะเป็นปีที่ยากลำบากในเรื่องการจัดเก็บ แต่ผู้บริหารกระทรวงการคลังยืนยันการจัดเก็บรายได้จะเป็นไปตามเป้าหมายแน่นอน ส่วนการเบิกจ่าย ได้พยายามเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการ ทั้งรัฐวิสาหกิจ และส่วนราชการทั้งหมด เพื่อรักษาบทบาทของภาครัฐในการเป็นผู้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจโตได้อย่างที่คิด ก็มีโอกาสและความเป็นไปได้สูงที่จะทำได้ตามเป้าหมาย ซึ่งวันนี้คลังมาคุยกัน ต้องทำงานเป็นทีมคลัง ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มาปรึกษากันเพื่อให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ทุกอย่างต้องเป็นรูปธรรมมากขึ้น ก็หวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาหลังจากนี้จะทำให้การทำงานของคลังราบรื่นขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo