Finance

ส่องแผน 24 บจ.เดินหน้าเปิดศึกสู้เครื่องหมาย ‘C’  

set8

การที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศขึ้นเครื่องหมาย C กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีส่วนผู้ถือหุ้นลดลงต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว หลังจากรายงานผลประกอบการงวดครึ่งปีแรกของปี 2561  ซึ่งจะเห็นว่าบริษัทจดทะเบียนที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C มี จำนวน 24 บริษัท ทั้งนี้ แต่ละบริษัทได้ดำเนินการจัดประชุมชี้แจงกับผู้ลงทุน เพื่อให้รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ส่วนผู้ถือหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด

สรุปแผนแก้ปัญหา 24 บจ.ที่ติดเครื่องหมาย C1

จากสำรวจข้อมูลการรายงานแนวทางการแก้ไขปัญหา พบว่า บริษัทส่วนใหญ่เลือกแนวทางการเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ ลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ  ปรับโครงสร้างองค์กร และโครงสร้างทางการเงิน รวมถึงการหาพันธมิตรใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ มีบริษัทจดทะเบียนที่เลือกแนวทางการเพิ่มทุน หรือลดทุนจดทะเบียน ซึ่งแนวทางนี้จะมีผลกระทบกับผู้ถือหุ้นโดยตรง ทั้งนี้จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า มีบริษัทจดทะเบียน 4 แห่งที่เลือกใช้วิธีดังกล่าว ในการแก้ไขปัญหาส่วนผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50%ของทุนชำระแล้ว ประกอบด้วย

บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน)  หรือ EFORL ดำเนินธุรกิจหลักเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริษัทย่อย ประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และให้บริการด้านความงาม

บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SPORT ดำเนินธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อีเว้นท์ และดิจิตอลมีเดีย บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน)  หรือTSF กลุ่มบริษัทดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับให้คำปรึกษา คำแนะนำ และวางแผนด้านการประชาสัมพันธ์รวมทั้งงานด้านสื่อโฆษณาทุกชนิด

ขณะที่บริษัท ที เอ็นจิเนียร์ริ่ง คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ T ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโดยครอบคลุมโครงการก่อสร้าง ทั้งที่เป็นอาคารโรงงาน คลังสินค้า อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล ศูนย์การค้า อาคารที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม รวมถึงงานระบบประกอบอาคาร งานสาธารณูปโภคงานติดตั้งเครื่องจักรต่างๆ และกลุ่มปิโตรเคมี โดยบริษัทเลือกแนวทางการลดทุน และลดพาร์

C222

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ให้ความเห็นว่า การที่บริษัทขนาดเล็กเลือกที่จะเพิ่มทุนหรือลดทุน เพื่อแก้ไขปัญหาส่วนผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50%นั้น ถือว่าเป็นวิธีการที่ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นทุกราย ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาได้เร็วกว่าแนวทางอื่น แต่ผู้ถือหุ้นก็ได้รับผลกระทบทันที  อย่างไรก็ตาม การใช้แผนเพิ่มทุนจะทำได้หรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นของแต่ละบริษัท

สำหรับรายละเอียดของแผนการแก้ไขปัญหาประกอบด้วย บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม ชี้แจงว่ากรณีหุ้นของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย “C” เหตุเพราะบริษัทมีฐานะทางการเงินแสดงส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่า50%ของทุนชำระแล้ว บริษัทมีการดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทภายในช่วงต้นไตรมาสที่ 3/2561 และดำเนินการจดทะเบียนทุนชำระแล้วเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561

ขณะเดียวกันบริษัทมุ่งมั่นในการเพิ่มรายได้จากการขายและบริการ จากธุรกิจหลัก 2 ประเภท  โดยธุรกิจเครื่องมือแพทย์ บริษัทมุ่งเน้นปรับปรุงและเพิ่มทีมขายให้มีประสิทธิภาพในการขายเพิ่มขึ้น มุ่งขยายตลาดในฐานลูกค้าเดิมและฐานลูกค้าใหม่ พัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่อีกทั้งมีแผนร่วมลงทุนผลิตและจำหน่ายเครื่องมือแพทย์บางรายการกับบริษัทต่างประเทศชั้นนำของโลก ซึ่งคาดว่าการร่วมทุนดังกล่าว จะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2561

C3

ส่วนธุรกิจความงาม ปัจจุบันกลุ่มบริษัท Wuttisak กำลังปรับแผนโครงสร้างธุรกิจ เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจกลุ่มวุฒิศักดิ์ ให้กลับมามีรายได้จากการขายและบริการความงาม โดยมีแผนสู่ธุรกิจสถาบันความงามอย่างครบวงจรเต็มรูปแบบ ได้แก่ การทำโรงพยาบาลศัลยกรรมความงาม การสร้างสาขาแบบone stop shop การปรับปรุงสาขาให้ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภค การเพิ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและสินค้าใหม่ๆ การขยายสาขาในระบบ Franchise ขยายธุรกิจสู่กลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงประเทศจีนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจความงามในอนาคต

บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท ระบุว่าแผนงานการแก้ไขปัญหาได้แก่ แผนที่ 1 ลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนขาย เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างรายได้ซึ่งส่งผลให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้  แผนที่ 2 แผนขยายงานด้านขนส่งสินค้าโดยแบ่งออกเป็นการรับจ้างขนส่งหนังสือพิมพ์เพื่อกระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และ เป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับหนังสือพิมพ์รายอื่น ซึ่งจากแผนงานดังกล่าว บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งผลให้ต้นทุนจากการขนส่งต่อหน่วยลดลง พร้อมทั้งขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น

แผนที่ 3 เพิ่มช่องทางการหารายได้จากธุรกิจงานพิมพ์ โดยการรับจ้างพิมพ์หนังสือ โบรชัวร์ แผ่นพับ และขยายฐานลูกค้ารายใหม่ เพิ่มขึ้นแผนที่ 4 เพิ่มรายได้จากงานกิจกรรมพิเศษ บริษัทมีงานกิจกรรมหลักๆที่บริษัทดำเนินงานอยู่รวมถึงการรับจ้างจัดกิจกรรมให้กับ หน่วยงานทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน และจะมีกิจกรรมใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาสร้างรายได้รวมถึงการขยายฐานลูกค้ารายใหม่ ให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง แผนที่ 5 การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติให้จัดสรรหุ้นสามัญไม่เกิน 2,011.60 ล้านหุ้น โดยจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม อัตราส่วน 1 หุ้นเดิม ต่อ 3 หุ้นใหม่ ราคาขายต่อหุ้น  0.20 บาท  ซึ่งวันเวลา จองซื้อและชำระเงินค่าหุ้น 29 ตุลาคม 2561 ถึง 2 พฤศจิกายน 2561 ทั้งนี้ สิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากต้องรอการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น

C4

แผนที่ 6 เพิ่มรายได้จากการขยายธุรกิจดิจิทัลให้ครบวงจร โดยการทำ Content Management หากมีผู้ที่สนใจให้บริษัทผลิต Content ด้านกีฬา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ โดยการตกลงร่วมทั้งสองฝ่ายแผนงานในอนาคต แผนที่ 7 เพิ่มธุรกิจบริหารจัดการตั๋วออนไลน์ และแผนที่ 8 เพิ่มธุรกิจการจัดทัวร์ชมกีฬาระดับโลก

บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ เปิดเผยแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมีแผนจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจากับคู่ค้าทางธุรกิจ  และมีการปรับปรุงโครงสร้างฝ่ายขายและการตลาด  ปรับปรุงและลดขนาดโครงการที่ไม่สามารถเพิ่มกระแสเงินสด และเข้าร่วมโครงการใหม่ที่สร้างผลกำไร โดยไม่ต้องลงทุนเอง  เร่งดำเนินคดีกับกรุงเทพมหานคร และบริษัทวุฒิศักดิ์ คลินิค อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด เป็นต้น

บริษัท ที เอ็นจิเนียร์ริ่ง คอร์เปอร์เรชั่น ระบุว่า หนึ่งในแผนการแก้ไขปัญหา คือการที่บริษัทอยู่ในระหว่างพิจารณาลดพาร์ เพื่อลดทุนจดทะเบียน เพื่อให้สัดส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของทุนชำระแล้วหลังหักส่วนต่างมูลค่าหุ้น

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight