Business

คลอด ร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับ คุมการเงิน ‘สหกรณ์ออมทรัพย์-เครดิตยูเนี่ยน’

คุมการเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์-เครดิตยูเนี่ยน ครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับ กำหนดหลักเกณฑ์ทางการเงิน ให้กู้ได้ 3 ประเภท พร้อมกำหนดวงเงินกู้

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เพื่อบริหารและ คุมการเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์-เครดิตยูเนี่ยน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ปี2562 จำนวน 5 ฉบับประกอบด้วย

คุมการเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์-เครดิตยูเนี่ยน

1. ร่างกฎกระทรวง การให้กู้และการให้สินเชื่อ ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการให้เงินกู้ และให้สินเชื่อ ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เช่น กำหนดให้สหกรณ์จะให้เงินกู้แก่สมาชิกได้ 3 ประเภทคือ

  • เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน จะกำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 12 งวด
  • เงินกู้สามัญ เป็นการให้เงินกู้แก่สมาชิกเพื่อใช้จ่าย หรือการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ กำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 150 งวด
  • เงินกู้พิเศษ มีวัตถุประสงค์ของการกู้ เพื่อประกอบอาชีพหรือการเคหะ หรือประโยชน์ในความมั่นคงหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต

ทั้งนี้ กำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 360 งวด อายุสูงสุดของผู้กู้ชำระหนี้แล้วเสร็จ ไม่เกินอายุ 75 ปี เป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และการกู้ยืมเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป กำหนดให้สมาชิกต้องส่งข้อมูลเครดิตบูโร เป็นต้น

2. ร่างกฎกระทรวง การรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน รวมถึงการกู้ยืมเงิน หรือการค้ำประกัน ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

มีสาระสำคัญคือ การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับฝากเงิน ก่อหนี้ และสร้างภาระผูกพัน รวมถึงการกู้ยืมเงิน หรือการค้ำประกัน ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

ตัวอย่างเช่น สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ไม่เกิน3 ปี กำหนดให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ จะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกิน 1.5 เท่าของทุนเรือนหุ้น รวมกับทุนสำรองของสหกรณ์

ส่วนสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกิน 5 เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์

ไตรศุลี ไตรสรณกุล 1
ไตรศุลี ไตรสรณกุล

3. ร่างกฎกระทรวง การบริหารสินทรัพย์ และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

มีสาระสำคัญคือ การกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับ การบริหารสินทรัพย์ และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้ทั้ง 2 สหกรณ์ มีสภาพคล่องเพียงพอ และดำรงสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว โดยที่มูลค่าไม่เปลี่ยนแปลง อย่างมีนัยสำคัญ

ตัวอย่างเช่น การกำหนดให้สหกรณ์ ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ที่ปราศจากภาระผูกพัน อาทิ เงินสด เงินฝากธนาคาร โดยเฉลี่ยรายเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของยอดเงินรับฝากทุกประเภท ส่วนชุมนุมสหกรณ์กำหนดไว้ที่ร้อยละ 6

4. ร่างกฎกระทรวง การจัดชั้นสินทรัพย์ และกันเงินสำรอง ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดชั้นสินทรัพย์ และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้สามารถจัดชั้นการให้เงินกู้ และการให้สินเชื่อ หรือสินทรัพย์ ที่แสดงให้เห็นถึง ความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริง และการกันเงินสำรอง

ตัวอย่างเช่น กำหนดให้สหกรณ์ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จากต้นเงินคงเหลือ สำหรับลูกหนี้จัดชั้นดังนี้ ลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษร้อยละ 2, ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานร้อยละ 20, ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยร้อยละ 50, ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญและลูกหนี้จัดชั้นสูญร้อยละ 100

5. ร่างกฎกระทรวง การกำกับการกระจุกตัวธุรกรรมทางการเงิน ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำกัดปริมาณการทำธุรกรรม กับลูกหนี้ และเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกัน การกระจุกตัวความเสี่ยง ไม่ให้สูงจนเกินไป

ตัวอย่างเช่น สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ จะฝากเงิน หรือให้กู้แก่ สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละ10 ของทุนเรือนหุ้น รวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ฝากเงิน หรือให้กู้เงิน แต่ไม่นับรวมถึงการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิก

money ๒๐๑๐๐๖

นอกจากนี้ ยังกำหนดด้วยว่า สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ก่อหนี้ และภาระผูกพัน กับสหกรณ์ทุกประเภท หรือชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภท รวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ ไม่เกินร้อยละ 25 ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง ยกเว้นกรณีสหกรณ์ก่อหนี้ และภาระผูกพัน กับชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้น เป็นสมาชิกรวมกันแล้ว ให้ทำได้ไม่เกินร้อยละ 50

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า ฐานะการเงินของสหกรณ์ เป็นความเสี่ยงของระบบการเงินของประเทศ เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์ มีสินทรัพย์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง และมีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้นในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับ การกำกับดูแล ให้สอดคล้องกับความสำคัญเชิงระบบที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว

ทั้งนี้ แม้พระราชบัญญัติสหกรณ์ฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ที่ประชุมเห็นว่า การออกกฎกระทรวง ประกอบพระราชบัญญัติสหกรณ์ยังมีความล่าช้า หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องเร่งผลักดัน ให้หลักเกณฑ์ ส่วนที่สำคัญ โดยเฉพาะด้านเครดิต สภาพคล่อง และการก่อหนี้ของลูกหนี้ครัวเรือน ออกบังคับใช้ได้โดยเร็ว เพื่อดูแลความเสี่ยง ในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้ติดตามพฤติกรรม การแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังมีอยู่ รวมถึงความเชื่อมโยงภายในระบบสหกรณ์ที่เพิ่มขึ้น จากการปล่อยกู้ระหว่างกัน ซึ่งอาจเป็นช่องทางสำคัญ ในการส่งผ่านความเสี่ยง ด้านสภาพคล่องภายในระบบสหกรณ์

ปัจจุบัน ยอดสินทรัพย์สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์ยูเนี่ยน รวมประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo