Business

เคาะแล้ว! ‘1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย’ เพิ่มจ้างงาน 6 หมื่น 3,000 ตำบล

1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ครม.ไฟเขียวกรอบวงเงิน 10,629 ล้าน กระตุ้นการจ้างงานประชาชนทั่วไป เด็กจบใหม่ นักศึกษา 60,000 ราย ใน 3,000 ตำบล

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ เห็นชอบโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล แบบบูรณาการ หรือโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายในกรอบวงเงิน 10,629.600 ล้านบาท

1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย

สำหรับกรอบวงเงินดังกล่าว แบ่งออกเป็นค่าจ้างงาน 60,000 อัตรา งบประมาณ 7,920 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินโครงการ/กิจกรรมที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ 3,000 ตำบล จำนวน 2,400 ล้านบาท (800,000 บาท/ตำบล) และค่าบริหารจัดการโครงการ 309.600 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิด การจ้างงาน ประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ นักศึกษา รวม 60,000 ราย โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ สามารถเป็นผู้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือ เยียวยา จากมาตรการของภาครัฐที่ผ่านมาได้

อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขว่า จะต้องไม่เป็นบุคคลที่ได้รับจ้างงาน ภายใต้แผนงาน โครงการที่มีจุดเน้นเกี่ยวกับ การจ้างงาน ในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้ว โดยจะดำเนินการผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

1. การจ้างงานตำบลละ 20 คน เน้นจ้างนักศึกษา หรือบัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อดำเนินกิจกรรม ได้แก่

  • การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)
  • การเฝ้าระวังประสานงาน และติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
  • การจัดทำข้อมูลราชการในพื้นที่ เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
  • การจ้างงานเพื่อการพัฒนาสัมมาชีพ และสร้างอาชีพใหม่
  • การสร้างและพัฒนา Creative Economy
  • การนำองค์ความรู้ ไปช่วยบริการชุมชน และการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม
  • การพัฒนาทักษะอาชีพใหม่
  • การถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม
อนุชา บูรพชัยศรี 1
อนุชา บูรพชัยศรี

2. การสนับสนุนการดำเนินโครงการ กิจกรรมตามรูปแบบกิจกรรม ที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ ที่สถาบันอุดมศึกษารับผิดชอบ ตามบริบทของพื้นที่ให้แก่ชุมชน 3,000 ตำบล ได้แก่

  • การพัฒนาสัมมาชีพ และการสร้างอาชีพใหม่ (ยกระดับสินค้า OTOP /อาชีพอื่นๆ)
  • การสร้างและพัฒนา Creative Economy (การยกระดับการท่องเที่ยว)
  • การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน (Health Care/ เทคโนโลยีด้านต่างๆ)
  • การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม /Circular Economy (การเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน)

3. การสนับสนุนการบริหารจัดการ และการดำเนินการของ National System Integrator และ Regional System Integrator และการดำเนินการของ System Integrator เพื่อบูรณาการโครงการและข้อมูล ในภาพรวมของการดำเนินการ

สำหรับกลุ่มเป้าหมายในโครงการ ได้แก่

  • ประชาชนทั่วไป เป็นประชาชนในพื้นที่ หรือใกล้เคียง ที่ว่างงาน และไม่ได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง จากหน่วยงานอื่นของภาครัฐและเอกชน จ้างในอัตรา 9,000 บาท/เดือน
  • บัณฑิตจบใหม่ ที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 3 ปี และมีความรู้ความสามารถ ที่ตรงต่อภารกิจ ในการปฏิบัติงาน จ้างในอัตรา 15,000 บาท/เดือน
  • นักศึกษา หรือผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และมีความรู้ความสามารถ ที่ตรงต่อภารกิจในการปฏิบัติงาน โดยจ้างในอัตรา 5,000 บาท/เดือน

แรงงานพนักงานออฟฟิศ ๒๐๑๐๐๖ 0

ทั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ในพื้นที่ตามปัญหาที่เกิดขึ้น และความต้องการของชุมชน ส่งผลต่อการยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ของตำบลเป้าหมาย เกิด การจ้างงาน ที่ตอบสนองต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ และเกิดเครือข่ายความร่วมมือ ในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ในพื้นที่ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและชุมชน

ขณะที่ อว. จะดำเนินการจ่ายค่าจ้าง ผ่านบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีการเชื่อมโยงข้อมูล การจ้างงานกับแพลตฟอร์มแรงงาน (Labour Platform) ของกระทรวงแรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการ ฯ ซ้ำซ้อนกับโครงการ หรือมาตรการอื่น ๆ ของภาครัฐทั้งหมดต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo