Politics

ย้อนรำลึก 44 ปี 6 ตุลา 19 ‘พิธา’ ชี้รัฐต้อง ‘คุ้มครอง’ ไม่ใช่ ‘คุกคาม’

ย้อนรำลึก 44 ปี 6 ตุลา 19 ก้าวไกล-ก้าวหน้า ร่วมวางพวงมาลารำลึกวีรชน พิธา เผย ใช้อดีตเตือนใจปัจจุบัน รัฐมีหน้าที่คุ้มครองไม่ใช่คุกคามประชาชน

พรรคก้าวไกล โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “พรรคก้าวไกล – Move Forward Party” แกนนำพรรคก้าวไกล และ คณะก้าวหน้า ร่วมวางพวงมาลา ย้อนรำลึก 44 ปี 6 ตุลา 19 ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้ รัฐมีหน้าที่คุ้มครองไม่ใช่คุกคามประชาชน ขอให้เหตุการณ์นี้เป็นเครื่องเตือนใจปัจจุบัน โดยระบุว่า

ย้อนรำลึก 44 ปี 6 ตุลา 19

“ณ ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519 หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย Rangsiman Rome – รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกล เดินทางมายังหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทั้งนี้ เพื่อร่วมวางพวงมาลารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เเละสดุดีเหล่าวีรชนคนกล้า ผู้สละชีวิตต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขณะที่ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ได้ร่วมวางพวงมาลารำลึกเหล่าวีรชน ในนามคณะก้าวหน้าด้วย

นายพิธากล่าวว่า คงไม่มีเวลาไหนที่เหตุการณ์ 6 ตุลา จะเป็นเครื่องเตือนใจให้กับสังคมได้เท่าเวลานี้ เหตุการณ์นี้มีความสำคัญหลายด้าน และสำคัญสำหรับใครหลายคน บางคนจะมองเป็นตำนานการต่อสู้ บางคนอาจเป็นความทรงจำ หรือบางคนมองว่าคือประวัติศาสตร์

“ถึงเวลาเเล้ว ที่เราจะต้องเรียนรู้ถึงความอดทนอดกลั้นในสังคม ควรจะเรียนรู้ได้เเล้วว่า ไม่ว่าจะเห็นต่างทางการเมืองอย่างสุดโต่งมากเเค่ไหน ก็ไม่ใช่เป็นข้ออ้าง ที่รัฐจะก่อความรุนแรงอย่างมีระบบ กับประชาชนที่อยู่ในชาติได้ ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม”นายพิธากล่าว

พวงมาลา

สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ถือเป็นบทเรียน ที่รัฐจะต้องไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ไม่ว่าจะยุคสมัยใด แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ตั้งเเต่ 14 ตุลา 2516 หรือ 6 ตุลา 2519 เเละล่าสุด พฤษภา 2553 ดูเหมือนว่า รัฐจะยังไม่ตระหนักถึงบทเรียน ในการตอบสนองเจตจำนงของประชาชน โดยเฉพาะใน 2 ประเด็น

ประเด็นเเรก คือ ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขัดเเย้งทางการเมือง แน่นอนว่าต้องมีคนเห็นต่าง แต่ความรุนเเรงทุกครั้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือ 6 ตุลา 2519 จนถึงพฤษภาคม 2553 ความรุนเเรงจะมาจากผู้มีอำนาจทั้งสิ้น ถ้าได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา และสามารถสร้างความอดทนอดกลั้นทางการเมือง (Political tolerance ) ได้ เหตุการณ์ที่เราต้องมากังวลว่วมันจะเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปีหรือไม่ ก็จะไม่เกิดขึ้น

“ประเด็นที่สอง ในเรื่องของสถิติของสิ่งที่เกิดขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิต 6 ตุลา 2519 เท่าที่เราพอที่จะหาได้คือ 45 คน นี่เป็นตัวเลขทางการ มูลนิธิอื่นตัวเลขก็จะต่างกันไป คนบาดเจ็บ 145 เราก็ยังคงหาได้ แต่ตัวเลขที่สังคมไทยไม่เคยหาได้เลยคือ ผู้ยิง หรือ ผู้ใช้อาวุธ ไม่มีการได้รับผิดจากสถานการณ์นี้

ย้อนรำลึก 44 ปี 6 ตุลา 19

กรณีแบบนี้ หากเป็นในระดับสากล จะต้องมีกระบวนการตามหาข้อเท็จจริง (Fact finding) ต้องมีทั้งการรับผิด และการปรองดอง แต่ในประเทศไทย เท่าที่เคยมีกระบวนการแบบนี้เมื่อ 4-5 ปีก่อน กระบวนการตามหาความจริง ได้ข้ามไปที่ความปรองดอง โดยปราศจากการนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

“ดังนั้นในทุกวันนี้ตัวเลขผู้กระทำผิดก็ยังเป็นศูนย์ เเละนี่คือ 2 ประเด็นสำคัญที่ว่า สิ่งที่รัฐควรเรียนรู้คืออะไร” พิธากล่าว

สำหรับมุมมองส่วนตัว ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พิธากล่าวว่า เหตุการณ์นี้ถูกทำขึ้นอย่างเป็นระบบ เป็นการสร้าง สถานการณ์ให้เกิดขึ้น ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ย่อมมีความคิดเห็นที่ขัดเเย้งกัน มีอุดมการณ์ทางการเมือง ที่เห็นต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เเต่ความรุนแรงจะเกิดขึ้น เมื่อมีการจัดตั้งกลุ่มคน เเละสร้างวาทกรรมต่าง ๆ เพื่อกล่าวหากัน ดังในกรณีมีการกล่าวหาว่า ผู้ที่มารวมตัวกันในธรรมศาสตร์ไม่ใช่คนไทย มีผู้อยู่เบื้องหลังจากต่างประเทศ

“เหล่านี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ และสามารถทำให้เกิดความรุนเเรงขึ้น เป็นการโหมฟืนเข้ากับกองไฟทุกครั้งไป ซึ่งหากกลับไปแก้ไขสิ่งที่ง่ายที่สุดคือ หลักการที่ว่า รัฐมีหน้าที่คุ้มครองประชาชน ไม่ใช่คุกคามประชาชน”

รำลึก

หากรัฐเห็นภาพตรงนี้เเละยอมถอย เพื่อทำตามข้อเรียกร้องในการแก้รัฐธรรมนูญ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเปลี่ยนผ่านไป ตามกระบวนการที่ประชาธิปไตยควรจะเป็น ไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกทางตัน อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จาก นิทรรศการแขวนที่จัดแสดงอยู่ธรรมศาสตร์ในเวลานี้

เมื่อถามถึงกรณีที่ คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ มีมติจะเชิญพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าชี้เเจง พิธา กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการเชิญจากทางคณะกรรมาธิการ

อย่างไรก็ตาม พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีข้อสังเกตว่า การตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว คือ การประวิงเวลา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่จริงใจต่อประชาชน และตนยังไม่ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล เพราะจากกระทำของรัฐบาลที่ผ่านมา มีลักษณะย้อนเเย้ง ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง ในหลายกรณี

หลังจาก หัวหน้าพรรคก้าวไกล และคณะ ร่วมวางพวงมาลาเรียบร้อยเเล้ว ยังได้ร่วมชมนิทรรศการ “แขวน 6 ตุลา” On site Museum ที่จัดแสดงข้อมูลและภาพถ่าย ที่ทางโครงการบันทึก 6 ตุลา รวบรวมหลักฐาน และความทรงจำ ของบุคคลเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มาดำเนินการบอกเล่า

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการ “แขวน” ซึ่งสะท้อนเป็นภาพถ่ายคนถูกแขวนคอบนต้นไม้ และถูกเก้าอี้ฟาดของ นีล ยูเลวิช (Neal Ulevich) ช่างภาพสำนักข่าวเอพี นอกจากนี้ยังได้นำเอาหลักฐานหลายชิ้น มาจัดแสดง เพื่อบอกเล่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าภาพถ่าย หนังสือพิมพ์เก่า สิ่งของต่างๆในเหตุการณ์ เช่น ลำโพงของนักศึกษาที่พรุนไปด้วยรอยกระสุนปืน สมุดบันทึกของบิดาผู้เสียชีวิต และเสื้อผ้าของนักศึกษาผู้เสียชีวิต ประตูเหล็กสถานที่เเขวนผู้เสียชีวิต เพื่อตอกย้ำความสูญเสีย เเละสดุดีเหล่าวีรชนผู้กล้าที่เสียสละชีวิตต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

#ก้าวไกล #6ตุลา #6ตุลาลืมไม่ได้จำไม่ลง”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo