Startup

ขาดแพทย์!! หนุน ‘แอพปรึกษาสุขภาพ’ มาแรงในอาเซียน

ความต้องการในการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ ผ่านแอพพลิเคชันต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้บริษัทดังกล่าว จะยังจำกัดอยู่เฉพาะการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่นักวิเคราะห์คาดว่า จะมีการพัฒนาบริการเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

halo

“ฮาโลด็อค” (Halodoc) แอพพลิเคชันบริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์แบบทางไกล สัญชาติอินโดนีเซีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 โดยโจนาธาน ซูทาร์ตา ซีอีโอของบริษัท ที่เคยเป็นผู้แทนทางการแพทย์ ของบริษัทเวชภัณฑ์รายหนึ่ง

การที่เขารู้จักกับแพทย์เป็นจำนวน ทำให้ผู้ป่วยที่เขารู้จักจำนวนมาก พากันร้องขอให้เขาช่วยติดต่อขอนัดพบแพทย์ให้ แทนที่จะต้องไปนั่งรอพบแพทย์นานหลายชั่วโมง ซึ่งเรื่องนี้จุดประกายให้เขาก่อตั้งฮาโลด็อคขึ้นมา

ซูทาร์ตา ให้สัมภาษณ์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัจจุบันฮาโลด็อค มีผู้ใช้งานราว 2 ล้านคน และมีแพทย์อยู่ในฐานข้อมูลมากถึง 20,000 คน ค่าธรรมเนียมในการปรึกษาอยู่ระหว่าง 1.7-5 ดอลลาร์ต่อครั้ง ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าถ้าไปขอคำปรึกษาจากแพทย์ตามคลินิคแบบตัวต่อตัว

ในแต่ละวัน มีผู้ใช้บริการปรึกษาแพทย์ผ่านฮาโลด็อคหลายพันครั้ง ซึ่งฮาโลด็อคจะได้ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมราว 5-25% ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ทำสัญญาไว้

แอพพลิเคชันนี้ ยังเปิดทางให้ผู้ใช้งานเชื่อมต่อบัญชีผู้ใช้งานของตัวเอง เข้ากับกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ทำไว้ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถชำระเงินผ่านทางประกันได้

ปัจจุบัน ฮาโลด็อคเป็นพันธมิตรกับบริษัทประกันอยู่ 5 รายด้วยกัน รวมถึง อลิอันซ์ ไลฟ์ และยังมีพันธมิตรเป็นร้านขายยาอีก 1,000 แห่ง ที่สามารถจัดส่งยาไปให้กับผู้ใช้แอพพลิเคชันได้

ฮาโลด็อคใช้วิธีชักชวนแพทย์เข้ามาร่วมลงทะเบียนในแอพพลิเคชัน ด้วยการตระเวนไปพูดคุยกับพวกเขาตามงานสัมมนาทางการแพทย์ต่างๆ ทั้งยังทำงานร่วมกับสมาคมแพทย์แห่งอินโดนีเซีย เพื่อรับประกันว่า แอพพลิเคชันผ่านการรับรองจากวงการแพทย์แล้ว

“ในอินโดนีเซีย มีปัญหาอยู่ 2 แบบด้วยกัน โดยในแถบตัวเมืองนั้น คุณจะต้องใช้เวลาร่วม 4 ชั่วโมง เพื่อที่จะพบกับหมอเพียงแค่ 10 นาทีเท่านั้น ส่วนตามชนบท หมอก็อยู่ไกลเกินไป”

‘ขาดแพทย์’ ปัจจัยหนุนเติบโต

ระบบสาธารณสุขที่ด้อยประสิทธิภาพนี้ เป็นปัจจัยหลักที่หนุนความต้องการ และทำให้แอพพลิเคชันที่ปรึกษาทางการแพทย์ทางไกลเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลจากโซลิเดียนซ์ บริษัทที่ปรึกษาแสดงให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ใน 6 ประเทศขนาดใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามนั้น มีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นถึง 740,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 จากระดับ 420,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2560

กระนั้นก็ตาม เกือบทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ต่างอยู่ในภาวะขาดแคลนแพทย์ เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรของแต่ละราย

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (ฮู) แสดงให้เห็นว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 1,000 คนของอินโดนีเซียอยู่ที่ 0.20 คน ไทย 0.47 คน และเมียนมา 0.56 คน ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประเทศอื่นๆ อย่าง เยอรมนี ที่ 4.19 คน สหรัฐ 2.56 คน และจีน 1.81 คน

คานซา ชาวารินา นักวิเคราะห์ธุรกิจ จากโซลิเดียนซ์ ระบุว่า การเข้ามาในตลาดของเทคโนโลยีดิจิทัล เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการพัฒนาการเข้าถึงระบบทางการแพทย์

“ความสำเร็จของอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมายความถึง อนาคตอันสดใสของการแพทย์ดิจิทัล ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวเร็วมาก”

doc

“ด็อกเตอร์ เอนนีแวร์” (Doctor Anywhere) ซึ่งเปิดตัวในสิงคโปร์เมื่อปี 2560 เป็นหนึ่งในแอพดูแลสุขภาพที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศนี้ ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 50,000 คน และแพทย์ 50 คน

แอพพลิเคชันตัวนี้มีฟีเจอร์ปรึกษาแพทย์ผ่านทางวีดิโอ ในราคา 20 ดอลลาร์สิงคโปร์ รวมถึง การจัดส่งยาให้ตามที่อยู่ของคนไข้ด้วย

ลิม เว่ย หมัน ผู้ก่อตั้งด็อคเตอร์ เอนนีแวร์ บอกด้วยว่า แอพพลิเคชันประเภทนี้ก็ให้ประโยชน์บางอย่างแก่แพทย์ ที่ให้คำปรึกษาแก่คนไข้เช่นกัน เพราะสามารถเป็นประตูที่จะเข้าถึง “ศักยภาพคนไข้” ได้มากขึ้น

“แพทย์อาจรู้สึกว่าติดต่อกับคนไข้ได้มากขึ้น ด้วยการทำให้ตัวเองว่าง และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”

ยักษ์จีนรุกแข่งขัน

ตลาดนี้ยังมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงหนุนให้ขยายตัวมากขึ้น จากการที่ “ผิง อัน กู๊ด ด็อคเตอร์” (Ping An Good Doctor) แอพพลิเคชันดูแลสุขภาพออนไลน์รายใหญ่สุดของจีน จ่อที่จะรุกเข้ามาในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีหน้า

นับถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผิง อัน กู๊ด ด็อคเตอร์ มีผู้ลงทะเบียนใช้งานในบ้านเกิดจำนวน 28 ล้านราย และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทได้ประกาศแผนที่จะเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการร่วมทุนกับ “แกร็บ” ผู้ให้บริการเรียกรถรับส่งผ่านแอพพลิเคชันรายใหญ่ของภูมิภาคนี้

ผิง อันตั้งเป้าที่จะใช้เครือข่ายผู้ใช้งานแกร็บ เป็นฐานในการเจาะเข้าไปในพื้นที่ที่การบริการด้านสุขภาพมีน้อย ซึ่งอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในตลาดที่บริษัทกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด

ผู้ให้บริการแอพพลิเคชันจากจีนรายนี้ วางแผนที่จะจัดหาบริการให้คำปรึกษาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ด้วยการที่คำปรึกษาจะเริ่มต้นผ่านแชทบอทเอไอ ซึ่งจะเป็นผู้เชื่อมต่อพาคนไข้ไปหาแพทย์ที่เหมาะสม

‘ขาดอินเทอร์เน็ต-ยึดวัฒนธรรมเก่า’ อุปสรรคใหญ่

อย่างไรก็ดี ชาวารินา จากโซลิเดียนซ์ เตือนว่า ความท้าทายขนาดใหญ่ ในการที่แอพพลิเคชันเหล่านี้่ จะหาทางเข้าไปยังพื้นที่ชนบท หรือพื้นที่ที่เข้าถึงบริการทางการแพทย์น้อยมากในภูมิภาคนี้ คือ การที่ผู้คนขาดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และยังยึดมั่นในวัฒนธรรมเก่าๆ อยู่

“ผู้คนตามชนบท ยังชอบที่จะได้ไปหาหมอแบบเห็นหน้าเห็นตาแบบเดิมอยู่ ทั้งการขาดความรู้ในเรื่องแอพพลิเคชันทางการแพทย์เหล่านี้ ก็ยังเป็นอุปสรรคของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยง ที่จะมีความต้องการในระดับต่ำในพื้นที่ชนบท”

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจจะกลายมาเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ให้บริการแอพพลิเคชันประเภทนี้ คือ กฎระเบียบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากบริการนี้ยังเป็นธุรกิจใหม่ จึงยังไม่มีกฎหมายเข้ามาควบคุมอย่างชัดเจนในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา: Nikkei Asian Review

Avatar photo