Sme

‘เฟซบุ๊ก’ หนุนเอสเอ็มอีไทย ฟื้นตัว แจกทุน 40 ล้าน อ่านเกณฑ์รับเงินที่นี่!

เฟซบุ๊ก หนุนเอสเอ็มอีไทย ฟื้นตัวจากโควิด-19 มอบเงินทุน 40 ล้านบาท พร้อมเปิดตัว Facebook Business Suite ตัวช่วยสร้างธุรกิจรายย่อยให้เติบโต

ชวดี วงศ์พยัต หัวหน้าฝ่ายพัฒนาการเติบโตธุรกิจประจำ เฟซบุ๊กประเทศไทย เปิดเผยว่า เฟซบุ๊ก หนุนเอสเอ็มอีไทย โดยมอบเงินทุนสนับสนุนมูลค่า 40 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 โดยเป็นหนึ่งในโครงการมอบเงินทุนช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

เฟซบุ๊ก หนุนเอสเอ็มอีไทย

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ในประเทศไทย สามารถฟื้นตัวได้ ในขณะที่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ด้านเศรษฐกิจ จากโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

พร้อมกันนี้ เฟซบุ๊ก ยังได้เปิดตัว “Facebook Business Suite” ตัวช่วยด้านธุรกิจ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย สามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตได้จากการบริหารจัดการเพจ และFacebook Business Suite ผ่านแอปพลิเคชันที่หลากหลายของ เฟซบุ๊ก ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้นในที่เดียว

จากรายงานสภาวะของธุรกิจขนาดเล็ก ในการสำรวจช่วงที่ 3 ซึ่งเป็นรายงาน ที่จัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารโลก องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ร่วมกับ เฟซบุ๊ก เพื่อสำรวจธุรกิจขนาดเล็ก พบว่าราว 39% ของผู้ประกอบการรายย่อยในไทย ที่ตอบแบบสำรวจคาดว่า กระแสเงินสด (cash flow) จะเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ที่ต้องประสบในไม่กี่เดือนข้างหน้า

ในขณะที่ 38% ของผู้ร่วมให้ข้อมูล กล่าวว่า พวกเขาได้ลดจำนวนพนักงาน หรือคนงานลง เนื่องจากการระบาด ของโรคโควิด-19

หลังจากที่ Facebook ประเทศไทย ได้ริเริ่มกิจกรรม #SupportSmallBusiness ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมาก ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่นี้ โดยผู้ประกอบการหลายราย ได้ทุ่มเทสุดกำลัง เพื่อปรับตัว และหันมาใช้ช่องทางออนไลน์

หลังจากได้รับฟังถึงความท้าทายต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการรายย่อยต้องเผชิญ เฟซบุ๊กจึงมุ่งช่วยเหลือให้เอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น รวมถึงให้การสนับสนุนด้านเงินทุน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยให้สามารถปรับปรุงพัฒนาธุรกิจ และฟื้นตัวกลับมาได้ใหม่ ท่ามกลางช่วงเวลาที่ยากลำบาก

เฟซบุ๊ก

สำหรับโครงการให้เงินทุนสนับสนุนเอสเอ็มอีครั้งนี้ ผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก และมีคุณสมบัติครบถ้วน ตามที่ระบุ จะได้รับเงินทุนสนับสนุนมูลค่ารวมโดยประมาณ 89,000 บาท ประกอบด้วยเงินสด 55,600 บาท และเครดิตโฆษณา (ad credit) จำนวน 33,400 บาท

สำหรับธุรกิจที่เลือกขอรับเครดิตโฆษณาด้วย ธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ไม่จำเป็นต้องมีบัญชีหรือเพจบน เฟซบุ๊ก เพื่อลงทะเบียนสมัครเข้ารับการสนับสนุนดังกล่าว

หลักเกณฑ์การสมัคร

ธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทยที่ต้องการสมัครเพื่อรับเงินสนับสนุน ต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19
  • มีพนักงานตั้งแต่ 2-50 คน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563
  • ประกอบธุรกิจมานานกว่า 1 ปี
  • เป็นองค์กรธุรกิจที่หวังผลกำไร
  • ดำเนินงานอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น

ผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 6-12 ตุลาคม 2563 ดูรายละเอียด และลงทะเบียนสมัครได้ที่ https://www.facebook.com/business/small-business/grants

นอกจากนี้ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย ยังได้เปิดตัว Facebook Business Suite อินเทอร์เฟสที่ทำงานครอบคลุมแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจในไทยสามารถจัดการช่องทางการดำเนินงานบนแอปพลิเคชันในเครือ Facebook ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้นในที่เดียว โดยสามารถเลือกใช้เครื่องมือได้ทั้งแบบที่มีค่าใช้จ่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย

การเคลื่อนไหวล่าสุดจาก เฟซบุ๊ก ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจจำนวนมาก ต่างขยับขยายช่องทางการดำเนินงานสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลกันมากขึ้น เพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มลูกค้า ในช่วงเวลาที่ท้าทาย โดย 42% ของผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยในประเทศไทย ที่ร่วมทำแบบสำรวจในเดือนกรกฎาคมระบุว่า ยอดขายในเดือนที่ผ่านมาจำนวน 25% หรือมากกว่า มาจากแพลตฟอร์มดิจิทัล

งนี้ Facebook Business Suite จะช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอี ประหยัดเวลา และทรัพยากรในการดำเนินงานได้ ในขณะที่ยังสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าและชุมชน รวมทั้งช่วยให้สามารถเผยแพร่ และจัดการโพสต์ต่างๆ บน เฟซบุ๊ก และ อินสตาแกรม ได้พร้อม ๆ กัน

ในขณะเดียวกัน ยังสามารถดูข้อความ และการแจ้งเตือนได้ในที่เดียว จึงช่วยให้ธุรกิจสามารถติดตามการอัพเดตอยู่เสมอ และโต้ตอบกับลูกค้า ได้อย่างทันท่วงที ตัวช่วยจัดการเพจ (Page Manager) จะช่วยเก็บข้อมูลเชิงลึกจากกทั้ง เฟซบุ๊ก และ อินสตาแกรม ผ่านอินเตอร์เฟสใหม่ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo