Business

‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ เดือดไม่หยุด! รฟม. นัดแถลงข่าวรอบ 2 ก่อนขึ้นศาลสัปดาห์หน้า

ประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” เดือดไม่หยุด! ผู้ว่าการ รฟม. นัดแถลงข่าวรอบ 2 ก่อนเจอ “BTS” ที่ศาลปกครองสัปดาห์หน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักสื่อสารองค์กร กองประชาสัมพันธ์ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า เวลา 09.00 น. วันพรุ่งนี้ (6 ต.ค. 63) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. จะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเรื่อง “การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)” มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ณ ชั้น 9 อาคาร 1 รฟม. ถนนพระราม 9 ห้วยขวาง กรุงเทพฯ

การแถลงข่าวด่วนครั้งนี้ นับเป็นการนัดแถลงข่าวชี้แจงโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นครั้งที่ 2 หลังจากได้นัดชี้แจงครั้งแรกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วันที่ 25 กันยายน 2563

รถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.

แก้เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้ากลางอากาศ

การประมูลงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และงานเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง บางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 ล้านบาท เกิดปัญหาเรื่องการปรับเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน

โดย รฟม. ได้มีประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และมีกำหนดยื่นซองเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนในวันที่ 23 กันยายน 2563 แต่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ส่งหนังสือร้องเรียนขอปรับเกณฑ์คัดเลือกผู้ชนะ ให้ไม่อิงแต่ผลประโยชน์ทางการเงินเท่านั้น แต่เสนอให้พิจารณาด้านอื่นๆ ด้วย เช่น เทคนิค ประกอบด้วย

ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบข้อชี้แจงต่อข้อสอบถามของผู้ซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP Clarification) และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) รวมถึงเห็นชอบการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอ

จากรูปแบบเดิม ที่การประเมินข้อเสนอจะพิจารณาซองเทคนิค และซองการลงทุนและผลตอบแทน แยกจากกัน โดยให้พิจารณาซองการลงทุนและผลตอบแทนเฉพาะผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ผ่านการประเมินซองเทคนิคเท่านั้น เป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคาแบบถ่วงน้ำหนัก คือ คะแนนเทคนิค 30% และคะแนนราคา 70% พร้อมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการยื่นข้อเสนอของเอกชนออกไป 45 วัน เป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

ในการนี้ รฟม. ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 นำส่ง RFP Addendum ให้แก่เอกชนทุกรายทราบแล้ว

unnamed

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ และ รฟม. ได้พิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบแล้วว่า การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ เนื่องจากโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการฯ ส่วนตะวันตก ซึ่งจะต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างที่มีความซับซ้อน เนื่องจากเป็นการดำเนินงานก่อสร้างใต้ดินทั้งหมด ประกอบกับแนวเส้นทางที่พาดผ่านเข้าในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่อ่อนไหวหลายแห่งโดยเฉพาะกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ต้องก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการเดินรถไฟฟ้าที่ต้องการมาตรฐานความปลอดภัยชั้นสูง

ดังนั้น ผลประโยชน์ที่รัฐและประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับจึงขึ้นกับคุณภาพ เทคนิค และประสิทธิภาพในการดำเนินงานของเอกชนเป็นสำคัญ มิได้มีเพียงแต่ผลประโยชน์ทางการเงินเท่านั้น รวมถึงการปรับ RFP ในครั้งนี้มีกฎหมายรองรับ

“การปรับปรุงเอกสาร RFP ครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงเฉพาะวิธีการประเมินข้อเสนอเท่านั้น ไม่ได้เป็นการปรับปรุงเนื้อหาข้อเสนออื่นใดในเอกสาร RFP ดังนั้นการดำเนินการดังกล่าวจึงมิได้ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายใด

นอกจากนี้ รฟม. ได้ขยายระยะเวลาการยื่นข้อเสนอของเอกชนออกไปอีก 45 วัน นับเป็นระยะเวลาในการจัดทำข้อเสนอการร่วมลงทุนของเอกชนประมาณ 70 วัน เพื่อให้ผู้ซื้อเอกสาร RFP ทุกรายได้มีเวลาเพิ่มเติมในการศึกษาเอกสาร RFP ซึ่งรวมถึงวิธีการประเมินข้อเสนอที่ได้ปรับปรุงในครั้งนี้ด้วย” นายภคพงศ์ ผู้ว่าการ รฟม. ชี้แจงเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563

 

“BTS” ไม่ยอม! ฟ้องปม รถไฟฟ้าสายสีส้ม

อย่างไรก็ตาม บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้บริหาร รถไฟฟ้า BTS เห็นว่าการปรับเงื่อนไข RFP ในครั้งนี้ไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการปรับเกณฑ์การคิดคะแนนหลังจากปิดขายซองแล้ว ซึ่งทำให้ทราบจุดเด่นจุดด้อยของผู้เข้าประมูลแต่ละราย รวมถึงการพิจารณาคะแนนด้านเทคนิค เป็นการเปิดช่องให้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินด้วย

ดังนี้ BTS จึงได้ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการมาตรา36ฯ ต่อศาลปกครองกลาง พร้อมขอให้ศาลฯ คุ้มครองการประมูลไว้ก่อน

  • 17 กันยายน 2563

BTS ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางให้เพิกถอนมติคณะกรรมการมาตรา36ฯ เรื่องการปรับปรุงเกณฑ์ประมูลโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ใน RFP รวมถึงขอให้ศาลฯ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อระงับการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการประมูลไว้ก่อน

คณะกรรมการมาตรา 36ฯ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ รฟม. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

  • 22 กันยายน 2563

ศาลปกครองกลางมีหมายนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวถึง รฟม. แต่ รฟม. ขอเลื่อนนัดไต่สวน เนื่องจากเตรียมเอกสารชี้แจงไม่ทัน และศาลฯ ได้อนุญาตเลื่อนนัด

  • 14 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น.

ศาลปกครองนัดผู้ฟ้องคดีคือ BTS และผู้ถูกฟ้องคดี คือ คณะกรรมการมาตรา 36ฯ และ รฟม. เพื่อไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ไทม์ไลน์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo