General

สธ.จัด รพ.ในสังกัดพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล ‘ดูแลผู้ป่วยบัตรทอง’

ดูแลผู้ป่วยบัตรทอง สาธารณสุข จัดโรงพยาบาลในสังกัดพื้นที่ กทม. ปริมณฑล แจงตั้งคณะกรรมการ สอบสวนข้อเท็จจริง จากผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด สปสช. ไม่เกี่ยวทุจริตแน่

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้หน่วยบริการ ในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มารองรับให้บริการประชาชน ดูแลผู้ป่วยบัตรทอง ที่ได้รับผลกระทบ จากการยกเลิกสัญญาสถานพยาบาล เพราะถือเป็นหน่วยงานพี่น้องกัน ที่ต้องให้ความช่วยเหลือ

ดูแลผู้ป่วยบัตรทอง

ทั้งนี้ ยอมรับว่า การยกเลิกสัญญาคลินิกต่าง ๆ ย่อมส่งผลกระทบ แต่ได้รีบแก้ไข ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้รับผลกระทบประมาณ 2 ล้านคน

สำหรับความคืบหน้า ในการตรวจสอบการทุจริตครั้งนี้ เมื่อพบธุรกรรมที่ไม่ปกติ และส่อไปในทางไม่สุจริต คงไม่สามารถดำเนินการร่วมกันต่อได้ โดยต้องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง สำหรับคลินิกเอกชนใด ที่จะขึ้นทะเบียน มารับเป็นหน่วยบริการเพิ่มเติม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.มีความยินดี

ขณะที่ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ขอให้ สปสช. ตั้งระเบียบและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ ที่ทำให้เกิดการทุจริตขึ้นได้อีก

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้เวลาดำเนินการ ซึ่งตนได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ มาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ บอร์ด สปสช. ซึ่งมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย อัยการ ดีเอสไอ และตำรวจ ที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบอยู่แล้ว และเป็นกรรมการ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับห้วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องตั้งกรรมการจากภายนอกเข้ามา

อนุทิน 2
อนุทิน ชาญวีรกูล

“ถือว่าตนทำอย่างเต็มที่ ด้วยเจตนาบริสุทธิ์เท่าที่จะทำได้ และการสอบสวนของคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ได้สอบสวนแค่คลินิก ที่ตรวจสอบพบการทุจริตเท่านั้น แต่จะสอบสวนภายในองค์กรด้วยว่า ทั้งหมด มีที่มาที่ไปอย่างไร”นายอนุทิน กล่าว

ด้าน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ระหว่างที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร่งจัดหาหน่วยบริการ ระดับปฐมภูมิแห่งใหม่ ได้รับความร่วมมือ จากโรงพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงโรงพยาบาล ในสังกัดกรมการแพทย์ ที่มีโรงพยาบาลหลายแห่ง ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ร่วมกันรองรับให้การดูแล ผู้ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ กรมการแพทย์ ได้เปิดคลินิกบัตรประกันสุขภาพ มาตรา 8 ที่โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อดูแลผู้ป่วยบัตรทองส่วนหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบ ให้ได้รับการดูแล และ รักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีนัดผ่าตัด ผู้ป่วยที่ต้องรับยาต่อเนื่อง เป็นต้น โดยกรณีการเข้ารับบริการ ที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ขอให้เป็นผู้ป่วย ที่ต้องรับการรักษา ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น เพื่อให้การบริหารจัดการ  เกิดประโยชน์สูงสุด

สาธิต
สาธิต ปิตุเตชะ

ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาล ในสังกัดกรมการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลในระดับตติยภูมิ ให้การรักษาพยาบาล ที่ยุ่งยากซับซ้อน และด้านพัฒนาวิชาการ

ทั้งนี้ ได้ให้โรงพยาบาลราชวิถี จัดตั้งคลินิกบัตรประกันสุขภาพ มาตรา 8 ขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน สามารถเข้าถึงบริการ โดยตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2563 ได้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วย ที่ได้รับผลกระทบ ในสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 8 แล้ว จำนวน 9,191 ราย

ขณะที่ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้การดูแล ผู้ได้รับสิทธิบัตรทอง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มที่จำเป็นจริงๆ ต้องนอน รพ.เช่น ผู้ป่วยล้างไต หรือรอผ่าตัด เป็นต้น ได้ประสานสถานที่ต่างๆ พร้อมเรียบร้อยแล้ว หากยังไม่ได้รับการประสานสามารถติดต่อเข้ามาที่ สปสช.ได้

2. กลุ่มผู้ป่วยเอดส์ หรือ กลุ่มที่รับยาสม่ำเสมอประสานเรียบร้อยแล้ว

3. กลุ่มโรคเรื้อรัง มีความจำเป็นต้องได้รับยาสม่ำเสมอ พยายามจัดหน่วยบริการภาครัฐเพื่อให้มีความเชื่อมั่น เบื้องต้นสามารถไปรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครในพื้นที่ทั้ง 69 แห่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo