Digital Economy

รู้จัก ‘คริสตัล วิดจาจา’ ผู้อยู่เบื้องหลังดาต้าของโกเจ็ก

GET
คริสตัล วิดจาจา

แอพพลิเคชันบริการแบบออนดีมานด์น้องใหม่ “Get” เปิดโฉมหน้าต่อสาธารณะวันแรกแล้วในงานดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง 2018 พร้อมเรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยกับการส่ง “คริสตัล วิดจาจา” (Crystal Widjaja) รองประธานอาวุโส ฝ่ายเทคโนโลยีข้อมูลและวางแผนธุรกิจ ผู้อยู่เบื้องหลังบิ๊กดาต้าขนาดมหึมาของโกเจ็ก (GO-JEK) ที่ออกมาบอกเล่าถึงบทบาทของดาต้าเบื้องหลังของแพลตฟอร์มได้อย่างถึงแก่น

โดยคริสตัลเปรียบว่า ดาต้าคือหัวใจสำคัญของโกเจ็กที่ครอบคลุมการทำงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ในเชิงสถิติ การตรวจสอบความผิดปกติต่าง ๆ การพัฒนาโปรโมชันว่าเหมาะสมหรือไม่ การวางแผนธุรกิจ ตลอดจนการทำการตลาดดิจิทัล

ยกตัวอย่างเช่น ดาต้าของบริการอย่าง Go Food บริการส่งอาหารยักษ์ใหญ่ของทางค่ายที่ส่งอาหารน้ำหนัก 30,000 ตันต่อเดือน ช่วยให้บริษัทสามารถวิเคราะห์ได้ถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค ประเภทของอาหารที่ได้รับความนิยมในแต่ละช่วงเวลา และรูปแบบการทำธุรกรรมของลูกค้า ซึ่งโกเจ็กใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการปรับปรุงบริการ ออกแบบโปรโมชัน และสนับสนุนให้ร้านค้าสามารถให้บริการกับลูกค้าได้ดีขึ้น หรือในบริการ Go Ride เฉพาะการเก็บดาต้าในช่วง 7.00 – 8.00 น. ของทุกวัน ก็ทำให้ทีมโกเจ็กเข้าใจพฤติกรรมการเดินทางของผู้ใช้งานได้มากขึ้นเช่นกัน

แต่โกเจ็กไม่ได้เก็บดาต้าแต่เพียงเท่านี้ เพราะดาต้าที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ข้อมูลสภาพอากาศ ฯลฯ โกเจ็กก็เก็บด้วยเช่นกัน ซึ่งในจุดนี้ คริสตัลระบุว่า การเก็บดาต้าจำนวนมากเอาไว้ช่วยให้แพลตฟอร์มคาดการณ์ได้ว่าเวลาใดที่ลูกค้าน่าจะอยากสั่งอาหาร เวลาใดที่ลูกค้าอยากลงทะเบียน ซึ่งการที่แพลตฟอร์มสามารถคาดการณ์ช่วงเวลานั้นได้ ก็จะทำให้แพลตฟอร์มสามารถแนะนำสิ่งที่ตรงกับความต้องการได้ดีขึ้น หรืออย่างน้อย หากแพลตฟอร์มทราบว่า ในช่วงบ่ายของวัน จะมีฝนตก (ซึ่งแพลตฟอร์มควบคุมไม่ได้) ก็ยังสามารถแจ้งเตือนคนขับให้เตรียมเสื้อกันฝนได้ทันเวลา

คริสตัลเผยว่า ความสามารถเหล่านี้คือ “AHA Moments” ถือเป็น Core Value ที่ทำให้ผู้ใช้งานติดใจ และอยู่กับแพลตฟอร์มได้นานยิ่งขึ้น และการร่วมลงทุนในเก็ท นอกจากเรื่องเงินทุนแล้ว เทคโนโลยีทั้งหมดที่กล่าวมาของโกเจ็กก็จะถูกส่งต่อมายังตลาดประเทศไทยด้วย

GET Photo1
ทีมผู้บริหารจากเก็ท

สำหรับตลาดไทย นายก่อลาภ สุวัชรังกูร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและ Chief Marketing Officer ของเก็ทเผยว่า เก็ทอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลว่าผู้ให้ความสนใจเก็ทนั้นอยู่ในโซนไหนกันบ้าง ส่วนการเปิดให้บริการนั้นอาจแบ่งเป็นโซนทั้งหมด 8 โซนรอบกรุงเทพฯ (ไม่รวมปริมณฑล) ซึ่งถ้าหากตลาดมีความพร้อมก็สามารถเปิดให้บริการพร้อมกันทั้ง 8 โซนเลยได้

ส่วนจุดที่เก็ทจะนำมาสร้างความแตกต่างกัน ก็คือการทำอย่างไรให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ท้องถิ่นที่สุด ซึ่งนายก่อลาภระบุว่าใช้การทำความเข้าใจ และรับเฉพาะผู้ที่เป็นวินมอเตอร์ไซค์เท่านั้น เพื่อให้ผู้ให้บริการในแพลตฟอร์มเป็นคนที่สามารถให้บริการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนเรื่องราคานั้น นายก่อลาภยืนยันว่าเป็นราคามาตรฐานแน่นอน

“ฟีดแบ็กจากรัฐบาลดี มีหลายท่านแวะเวียนเข้ามาชม ส่วนในเรื่องพี่วินมอเตอร์ไซค์เราก็จะพยายามทำความเข้าใจว่าเราไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการทำธุรกิจของเขา”

ปัจจุบัน โกเจ็กมียอดดาวน์โหลดสูงถึง 98 ล้านครั้ง ใช้เวลาเพียงหนึ่งปีก้าวขึ้นเป็นยูนิคอร์นที่อินโดนีเซีย ขณะที่บริการบนแพลตฟอร์มนั้นมีทั้งสิ้น 25 บริการ โดยใช้เวลาในการพัฒนาจนถึงตอนนี้ประมาณ 3 ปี (เปิดตัวในปี 2558)

สำหรับการให้บริการโดยเฉลี่ยของคนขับรถโกเจ็กนั้นคือ 8 ล้านกิโลเมตรต่อวัน และความนิยมในโกเจ็กยังทำให้บริการ GO-PAY กลายเป็นกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียด้วย

ส่วนในตลาดไทยนั้น ขณะนี้ยังถือว่าเป็นช่วงเปิดลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อรับสมัครเทสเตอร์ที่สนใจทดลองใช้แอพเวอร์ชั่นเบต้าของเก็ทภายในงานดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง 2018 ซึ่งเก็ทระบุว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมชมงาน รวมถึงนายกรัฐมนตรีที่แวะมาเยี่ยมชม อย่างไรก็ดี ทางเก็ทเผยว่า ผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้าจะมีโอกาสได้ทดลองใช้งานแอพพลิเคชันก่อนใครในกรุงเทพฯ และเพื่อช่วยให้ฟีดแบ็คกับเก็ทเพื่อให้สามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้ตอบโจทย์คนไทยได้มากขึ้นด้วย

Avatar photo