Business

ส่งออกสมุนไพรไทย ‘อันดับ 1’ อาเซียน ปีหน้าแตะ 3.6 แสนล้าน

ส่งออกสมุนไพรไทย อันดับ 1 อาเซียน กระทรวงสาธารณสุข เกษตรฯ พาณิชย์ ผนึกกำลังดันเป้าหมาย 3.6 แสนล้านบาทปี 2564 ลุยจัดโรดโชว์ต่างประเทศ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ส่งออกสมุนไพรไทย อันดับ 1 อาเซียน โดยตลาดสมุนไพรเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีคู่แข่งน้อยราย แม้กระทั่งภายใต้สถานการณ์โควิด19 ยอดการส่งออกยังขยายตัวกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะตลาด จีน อเมริกาและเวียดนาม

ส่งออกสมุนไพรไทย

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ กับการปลูกและการผลิตสินค้าสมุนไพร ให้มีคุณภาพระดับสากล เพราะเล็งเห็นศักยภาพในการเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้แก่ประเทศ ซึ่งทุกวันนี้ สมุนไพรถูกใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อาหารเสริม และยารักษาโรค

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ติดตาม และพร้อมให้การสนับสนุน ทุกหน่วยงาน ในการต่อยอดการดำเนินการ ตามแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี 2560-2564 ซึ่งกำหนดเป้าหมาย ให้เพิ่มมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร จาก 1.8 แสนล้านบาท เป็น 3.6 แสนล้านบาท ในปี 2564

สำหรับ สมุนไพร ที่ได้รับความนิยมระดับ Product Champion ได้แก่ ขมิ้นชัน ไพลกระชายดำ และใบบัวบก และที่กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เช่น ฟ้าทะลายโจร ขิง กระเทียม

ที่ผ่านมา หน่วยงานทั้งระหว่างภาครัฐ และเอกชน ได้ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ โดยมี กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดูแลในเรื่องการสร้างความเชื่อมั่น ในคุณค่าและคุณภาพของ สมุนไพร สนับสนุนการสร้างนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และลดความยุ่งยากในการขออนุญาตผลิตของผู้ประกอบการ

รัชดา ธนาดิเรก
รัชดา ธนาดิเรก

ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบเรื่อง การเพิ่มช่องทางการตลาด ทั้งในและต่างประเทศ การจับคู่เจรจาธุรกิจ การออกงานแสดงสินค้า การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสู่ตลาดต่างประเทศ

ในปีหน้า กระทรวงพาณิชย์ จะจัดงานส่งเสริมเครื่องสำอางไทย ในตลาดใหญ่ ๆ อาทิ เยอรมนี ญี่ปุ่น และรัสเซีย นอกจากนี้ ยังมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้เดินหน้าขยายพื้นที่ปลูก พืชสมุนไพรแบบอินทรีย์ เพราะจะทำให้ได้วัตถุดิบ ที่ปลอดสารพิษ สามารถขายได้ราคาดีขึ้น

พร้อมกันนี้ จะเดินหน้าส่งเสริม ให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็น “แปลงใหญ่พืชสมุนไพร” เพื่อจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ แบบครบวงจร ภายใต้หลักสูตร ที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ดำเนินการ และความต้องการของเกษตรกร

ตัวอย่างเช่น การผลิตสมุนไพรคุณภาพ เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอ และมีคุณภาพตรงความต้องการของตลาด โดยเน้นเรื่อง การจัดทำแผนการผลิต การวิเคราะห์พื้นที่ปลูก และการจัดการหลังเก็บเกี่ยวรวมถึงเพิ่มมูลค่าของผลผลิต เป็นต้น

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า สมุนไพร เป็นพืชที่ตลาดโลก มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี นับเป็นโอกาสสำคัญ ในการสร้างรายได้ และผลตอบแทน ที่มั่นคง ให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการ

สมุนไพร

ขณะเดียวกัน รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน ทั้งในเรื่องของนโยบาย และงบประมาณ เพื่อการพัฒนา การผลิตสมุนไพรอย่างครบวงจร อีกทั้งได้สร้างระบบการเชื่อมโยงข้อมูล ผู้ปลูก ผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลาดกลางสมุนไพร ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตลาดสมุนไพรออนไลน์ และอุตสาหกรรมสารสกัดสมุนไพร เพื่อให้อุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เป็นที่ยอมรับทั่วโลก และมีการเติบโต อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ในปี 2563 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดทำ ตำรามาตรฐานยา สมุนไพรไทย ฉบับปี 2563 (Thai Herbal Pharmacopoeia 2020) ขึ้น โดยมีมาตรฐานยาสมุนไพรทั้งหมด 99 มอโนกราฟ (สูตร/รายละเอียด)ประกอบด้วย วัตถุดิบ สารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ในตำรามาตรฐานยา สมุนไพรไทย ฉบับปี 2563 ยังได้เพิ่ม มาตรฐานใหม่ 9 มอโนกราฟ ได้แก่ ทิ้งถ่อน มะรุม แสมสาร ไม้เท้ายายม่อม หญ้าดอกขาว หญ้าปักกิ่ง ยาแคปซูลปัญจขันธ์ ยาชงปัญจขันธ์ และยาชงมะตูม รวมทั้งปรับปรุงภาคผนวกที่เกี่ยวข้อง ให้ทันสมัย

ปัจจุบัน สมุนไพรไทย ถูกนำมาใช้ ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นอันดับแรก หรือกว่า 77% รองลงมาเป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 17%  และ ยา4 %

ด้านแนวโน้มการใช้ สมุนไพรไทย ในอนาคตยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ใช้สมุนไพร เป็นทางเลือก ในการดูแลสุขภาพ โดยเล็งเห็นความปลอดภัยเป็นสำคัญ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล ที่ส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพร ผ่านแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย พ.ศ. 2560-2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo