Lifestyle

เลี่ยง ‘กาแฟ’ ให้ไกล ถ้าคุณป่วย ด้วยโรคต่อไปนี้! ป้องกันอาการแย่ลง

เลี่ยงกาแฟให้ไกล สำหรับคนที่มีอาการป่วยบางอย่าง โรคประจำตัวบางโรค ก็ไม่เหมาะที่จะดื่มกาแฟ เพราะอาจทำให้อาการป่วยแย่ลงกว่าเดิม

กาแฟเป็นเครื่องดื่มประจำวัน ที่หลายคนอาจจะเริ่มกินมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ก็อาจมีภาวะเจ็บป่วยบางอย่างเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งทำให้การดื่มกาแฟอาจไม่ฟินเหมือนแต่ก่อนแล้ว เพราะดื่มกาแฟไปก็รู้สึกไม่สบายตัว หรือกระตุ้นอาการป่วย ดังนั้น ดูกันว่าป่วยโรคอะไรควร เลี่ยงกาแฟให้ไกล บ้าง

เลี่ยงกาแฟให้ไกล

  • โรคนอนไม่หลับ

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่ากาแฟมีคาเฟอีนที่ทำให้รู้สึกตื่นตัว ดังนั้นคนที่มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง ก็ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ โดยเฉพาะในช่วงหลัง 14.00 น. เป็นต้นไป

  • ความดันโลหิตสูง ที่ควบคุมอาการไม่ได้

กาแฟมีทั้งคาเฟอีน และสารกลุ่มไดเทอร์พีน ซึ่งมีฤทธิ์เพิ่มการทำงานของหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้ การดื่มกาแฟในปริมาณมาก จึงอาจทำให้ใจสั่น กระสับกระส่าย และความดันโลหิตเพิ่มขึ้นชั่วขณะ

ดังนั้น หากมีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว และควบคุมอาการไม่ได้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟปริมาณมากในเวลาใกล้เคียงกัน โดยควรดื่มกาแฟเพียงวันละครั้ง หรือให้ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ เพราะฤทธิ์ของกาแฟ จะส่งผลต่อความดันโลหิตได้นานถึง 1-3 ชั่วโมงเลยทีเดียว

นอกจากนี้ก็ไม่ควรดื่มกาแฟ ก่อนไปทำกิจกรรมหนัก ๆ เช่น ไปออกกำลังกาย ไปวิ่ง ไปยกน้ำหนัก เพราะจะยิ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นไปอีก

  • ต้อหิน

คาเฟอีน มีผลทำให้ความดันตาสูงได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยโรคต้อหิน ที่จำเป็นต้องควบคุมความดันตา ให้อยู่ในระดับดี ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ชา เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งรวมไปถึงเครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม แต่ถ้าอยากดื่ม ก็ต้องจำกัดปริมาณคาเฟอีนให้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน

กาแฟ1

  • โรคไขมันในเลือดสูง

สารในกลุ่มไดเทอร์พีน ที่อยู่ในกาแฟ ส่งผลให้คอเลสเตอรอลโดยรวม LDL คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น คนที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟสด หรือกาแฟต้ม ที่ไม่ผ่านการกรอง เพราะฤทธิ์กาแฟอาจทำให้ร่างกาย คุมระดับไขมันในเลือดได้ไม่ดี

  • โรคกระดูกพรุน

คาเฟอีน มีฤทธิ์เพิ่มการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ความหนาแน่น ของแร่ธาตุในกระดูก ลดน้อยลง และแม้จะไม่ร้ายแรง จนทำให้กระดูกบางมาก เสี่ยงต่อการแตกหัก แต่ในคนที่เป็นโรคกระดูกพรุน ค่อนข้างรุนแรง หรือได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ก็ควรระวังโทษของกาแฟในข้อนี้ด้วย

  • ภาวะวัยทอง

ผู้สูงอายุ ควรงดดื่มกาแฟ จะดีต่อสุขภาพมากกว่า เพราะฤทธิ์ของกาแฟ ทั้งกระตุ้นความดันโลหิต อาจกระตุ้นการเกิดไขมันเลวในร่างกาย ที่สำคัญยังเพิ่มการขับแคลเซียมของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนได้มากขึ้น

  • โรคกระเพาะอาหารที่อาการรุนแรง

เราอาจเคยได้ยินมาบ้างว่าไม่ควรดื่มกาแฟตอนท้องว่าง เพราะกาแฟอาจกัดกระเพาะอาหาร ทว่าในหลายงานวิจัย ก็ไม่พบว่ากาแฟมีฤทธิ์ทำให้อาการปวดท้อง หรืออาการจากโรคทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เป็นแผลในกระเพาะอาหาร แพทย์อาจสั่งงดการดื่มกาแฟเป็นราย ๆ ไป เพื่อไม่ให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลงไปอีก

กาแฟ
white coffee cup and roasted coffee beans around
  • ลำไส้แปรปรวน

สำหรับผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟเช่นกัน เพราะอาจทำให้รู้สึกปั่นป่วนในท้อง เพราะกาแฟ อาจไปกระตุ้นอาการปวดท้อง และอาการท้องเสียได้

  • โรคเบาหวาน

กาแฟมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน ที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น คนที่เป็นเบาหวานแบบที่ควบคุมไม่ได้ แนะนำว่าเลี่ยงการดื่มกาแฟจะดีกว่า แต่สำหรับคนที่ควบคุมน้ำตาลได้ดีมาตลอด แพทย์ก็ไม่ได้ห้ามนะคะ เพียงแต่จะแนะนำว่าอย่าเติมน้ำตาล นม หรือครีมเยอะเกินไป รวมทั้งอย่าดื่มในปริมาณมากด้วย

  • คนที่มีภาวะขาดวิตามินบี 1

ถ้ามีภาวะขาดวิตามินบี 1 ควรงดดื่มกาแฟไปเลย เพราะกาแฟจะยิ่งไปลดการดูดซึมวิตามินบี 1 และยังกระตุ้นการขับวิตามินบี 1 ออกทางปัสสาวะ ทำให้ระดับวิตามินบี 1 ในเลือดลดลง ซึ่งจะส่งผลให้มีปัญหาหลอดเลือด ระบบสมอง ประสาท และหัวใจตามมาด้วย

  • หญิงตั้งครรภ์

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรงดกาแฟไปก่อน เพราะฤทธิ์ของกาแฟ อาจทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ หรือคลอดก่อนกำหนดได้ ทั้งยังมีการศึกษา ที่กล่าวถึงความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร

สำหรับ หญิงให้นมบุตร ก็ควรงดกาแฟด้วยเช่นกัน เพราะคาเฟอีน จะถูกขับออกมาทางน้ำนมได้ และอาจกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ทารกมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น นอนน้อยลง ตื่นง่าย กระสับกระส่าย งอแง อยู่ไม่สุข ดูดนมได้ไม่ดี เป็นต้น

ดื่มกาแฟอย่างไร ไม่เสียสุขภาพ

ควรดื่มกาแฟวันละกี่แก้ว คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญ ที่หลายคนข้องใจมานาน ซึ่งหลายการศึกษา ก็พบว่า คนที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว สามารถดื่มกาแฟวันละ 3-4 แก้ว หรือรับคาเฟอีนได้ไม่เกิน 300-400 มิลลิกรัม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ที่ผสมครีมเทียมหรือน้ำตาลในปริมาณมากเกินไป เพราอาจเพิ่มไขมันและน้ำหนักตัวได้ นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ก็ขอย้ำอีกทีว่าอย่าดื่มกาแฟหลังเวลา 14.00 น.

ถึงแม้ผู้ป่วย หรือคนที่มีภาวะของบางโรคอยู่ อาจไม่ควรดื่มกาแฟ แต่ก็ไม่อยากให้มองกาแฟเป็นผู้ร้าย เพราะจริง ๆ แล้วหากดื่มอย่างเหมาะสม กาแฟก็มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ไม่น้อย

ที่มา : Kapook

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo