COLUMNISTS

ถอดรหัสคลายล็อกพรรคการเมือง อย่าหยุดแค่เดินหน้าเลือกตั้ง

Avatar photo
2

หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/61 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา คงมีคำถามกันมากว่า ต่อจากนี้ตั้งตารอวันเลือกตั้งได้เลยใช่หรือไม่ จะไม่มีตัวแปรใดมาเปลี่ยนแปลงกำหนดการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แล้วจริงหรือ ลองมาหาคำตอบกันว่ามีอะไรในคำสั่งนี้ที่ต้องจับตากันบ้าง

คลายล็อกการเมือง

จากเนื้อหาในคำสั่งนี้มองได้สองอย่างคือ ดูเหมือน ว่าคสช.ตั้งใจให้มีการเลือกตั้ง เพราะคลายล็อกให้พรรคดำเนินกิจกรรมที่จำเป็น ยกเลิกไพรมารีโหวต ไปจนถึงการให้กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งให้เสร็จก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ หลังพ้น 90 วัน นับจากวันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 11 ธันวาคม 2561

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีการออกตัวเกี่ยวกับสถานการณ์ความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นข้ออ้างสำคัญของนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอดว่า “ถ้าบ้านเมืองไม่สงบก็ยังไม่มีเลือกตั้ง” และกระชับอำนาจการควบคุมการเลือกตั้งมาไว้ที่คสช.อย่างน่าสนใจด้วย

ไล่เรียงกันตั้งแต่การให้เหตุผลในคำสั่งที่ระบุว่า “เพื่อให้สถานการณ์บ้านเมือง ‘สงบเรียบร้อยระดับหนึ่ง’ ในขณะนี้ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปในห้วงเวลาการปฏิรูปประเทศ ตามแผนการปฏิรูปประเทศ จึงยังคงจำเป็นต้องให้ประกาศ คสช. หรือ คำสั่งหัวหน้าคสช.เกี่ยวกับการดำเนินการของพรรคการเมือง ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป แต่เพื่อให้การจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นตามเวลาดังกล่าวได้ “จึงควรผ่อนคลาย” การดำเนินกิจกรรมการเมืองที่จำเป็นบางกรณี…”

ประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้หลาย ๆ เส้น คือข้อความที่ว่า “สงบเรียบร้อยในระดับหนึ่ง” สะท้อนว่า คสช.กำลังตอกย้ำให้สังคมเข้าใจว่าบ้านเมืองยังไม่ได้มีความสงบเรียบร้อยอย่างที่ควรจะวางใจได้ เพราะเพียงแค่สงบเรียบร้อยในระดับหนึ่งเท่านั้น

เรื่องนี้ต้องโยงภาพให้เห็นชัด ๆ ถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่ทหารบุกรวบวินจักรยานยนต์รับจ้างที่ใส่เสื้อยืดสีดำ ที่มีแถบป้ายสีขาวแดงบริเวณหน้าอก หรือ เสื้อต้องห้าม เพราะเป็นสัญลักษณ์ “สหพันธรัฐไท” มีเป้าหมายแบ่งแยกดินแดน ที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา

รัฐบาลคสช.ก็ตีปี๊บเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งๆ ที่ถ้าไม่มีการจับกุมให้เป็นข่าว หากมีโอกาสเจอผู้สวมใส่เสื้อดังกล่าว แม้แต่ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบความหมายที่แฝงมากับสัญลักษณ์นั้น มารู้ก็ตอนที่มีการจับกุมนี่แหละ

ทำให้หลายคนเกิดคำถามคาใจว่า เหตุการณ์นี้จะถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะถูกนำมาใช้ว่าบ้านเมืองยังไม่สงบจนกระทบกับวันเลือกตั้งหรือไม่ และจะมีเหตุการณ์อื่นเพิ่มเติมมาอีกหรือเปล่า

ต่อจากปมบ้านเมืองแค่สงบเรียบร้อยในระดับหนึ่ง จำเป็นต้องมีคำสั่ง และประกาศคสช.ต่อไป มาถึงเรื่องการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งดูเหมือนว่าคสช. จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะในคำสั่งฉบับนี้ระบุถึงการอนุญาตให้พรรคการเมืองประชาสัมพันธ์ หรือติดต่อสื่อสารผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ห้ามหาเสียง

กรณีนี้ กกต.และคสช.อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามในการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือสั่งให้ระงับการดำเนินการดังกล่าวได้ เท่ากับว่ากรอบกติกาการหาเสียงออนไลน์ ไม่ได้มีแค่ กกต.ที่จะเป็นผู้กำกับ แต่ คสช.จะเข้ามามีเอี่ยวในการควบคุมไปจนถึงการสั่งระงับด้วย

ซึ่งเรื่องนี้ อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เตือนสติไปถึง คสช.ว่า “คำสั่งที่ออกมาเพียงเพื่อให้ทำงานธุรการ แต่ไม่ได้เข้าใจงานการเมือง และมีทัศนคติว่าพรรคการเมืองมีไว้เพื่อหาเสียง ทั้งที่ต้องรับฟังปัญหาประชาชนอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่รวมตัวมีอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง การจำกัดกิจกรรมพรรคการเมือง จึงเป็นการจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งคนได้ประโยชน์คือคนซื้อเสียง หรือคนที่ได้คะแนนมาโดยไม่ชอบ ขณะที่คนได้คะแนนบริสุทธิ์ต้องทำการเมือง โน้มน้าวความคิดประชาชน ยิ่งจำกัดการแลกเปลี่ยนความเห็น ยิ่งเป็นการช่วยพรรคการเมืองที่ไม่คิดจะได้คะแนนเสียงด้วยวิธีที่บริสุทธิ์”

สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้บรรยากาศที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ยังอยู่ในภาวะที่เรียกว่าไม่ปกติ เพราะ คสช.ไม่ปล่อยให้กลไกทุกอย่างเดินไปตามครรลองที่ควรจะเป็น แต่ยังคงควบคุมไว้ด้วยอำนาจพิเศษ ขณะเดียวกันยังกระโจนลงสู่สนามเป็นผู้เล่นด้วย ยิ่งเป็นการท้าทายว่าผลการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศเช่นนี้จะสร้างการยอมรับจากทุกฝ่ายได้หรือไม่

โจทก์ใหญ่ของ คสช.ที่ต้องให้คำตอบกับประเทศ จึงไม่ใช่เพียงแค่การคลายล็อกให้พรรคการเมืองเดินหน้าสู่สนามเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องปล่อยให้กลไกปกติทำงานเพื่อให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรมด้วย จึงจะเปลี่ยนผ่านบ้านเมืองสู่ยุคปฏิรูปได้อย่างแท้จริง