Business

ช่วยเหลือเอสเอ็มอีรอบ 2 อัดฉีดสินเชื่อ 2 โครงการ 1,700 ล้าน

ช่วยเหลือเอสเอ็มอีรอบ 2 กระทรวงอุตสาหกรรม จัดสินเชื่อ 2 โครงการรวม 1,700 ล้านบาท เยียวยาผลกระทบโควิด หวังประคองธุรกิจไปต่อ ไม่เลิกจ้างงาน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัด กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหาร กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้อนุมัติมาตรการ ช่วยเหลือเอสเอ็มอีรอบ 2 เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของประเทศ ช่วยให้มีการจ้างงานมากถึง 12 ล้านคน และไม่ให้ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น

ช่วยเหลือเอสเอ็มอีรอบ 2

ทั้งนี้ จะเน้นการให้ความช่วยเหลือไปยัง ลูกหนี้สินเชื่อ ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง หรือการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 จำนวน 2 โครงการ กรอบความช่วยเหลือมากกว่า 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • การให้สินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ กรอบวงเงินการให้สินเชื่อ 1,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการนี้ ผู้กู้ ต้องเป็นลูกหนี้สินเชื่อ ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยวัตถุประสงค์การกู้ เพื่อใช้ในการปรับปรุง การบริหารจัดการ เงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่าย การดำเนินกิจการ ในสถานการณ์ภัยแล้ง หรือ การแพร่ระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ ผู้ขอกู้ ต้องมีภาระหนี้เงินต้น วงเงินกู้สินเชื่อระยะยาว (Term Loan) คงเหลืออยู่กับกองทุน ตลอดจนไม่มีสถานะเอ็นพีแอล หรือ ไม่อยู่ระหว่างถูกกองทุนดำเนินคดี และเป็นผู้ประกอบการ ที่มีสถานะการชำระเป็นปกติ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

การให้วงเงินสินเชื่อ จะพิจารณาให้ได้รับ วงเงินสินเชื่อต่อราย สูงสุดไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อ ที่ลูกหนี้สินเชื่อกองทุนฯ ชำระเงินต้นคืน ซึ่งกองทุน ฯ จะดำเนินการปล่อยเงินกู้ สินเชื่อระยะยาว สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น 1 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา

กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์
กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์
  • มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กรอบวงเงินการให้สินเชื่อ 700 ล้านบาท

คุณสมบัติของเอสเอ็มอี ที่สามารถเข้ารับความช่วยเหลือ จากกองทุนฯ จะต้องเป็นเอสเอ็มอี ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนฯ วงเงิน 8,000 ล้านบาท โดยการพิจารณาสินเชื่อครั้งนี้ จะให้ความช่วยเหลือ ด้านการบรรเทาภาระการชำระหนี้ ให้มีสภาพคล่อง ที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไป ในสภาวะวิกฤติ

พร้อมกันนี้ ยังเพื่อลดแนวโน้มการเป็นเอ็นพีแอล โดยให้วงเงินสินเชื่อต่อราย สูงสุดไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่ลูกหนี้กองทุนฯ ชำระเงินต้นคืน มีระยะเวลากู้สุงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น 1 ปี และมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพียง ร้อยละ 1 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา

นายกอบชัย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว จะเป็นส่วนสำคัญ ในการพยุงกลุ่มเอสเอ็มอี ของไทย ให้สามารถประคับประคอง การดำเนินกิจการต่อไปได้ ท่ามกลางผลกระทบ จากโควิด-19 และ จะชะลอปัญหาการเลิกจ้าง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศได้ต่อไปในอนาคต

ผู้ที่สนใจ สามารถยื่นความประสงค์เข้าร่วมมาตรการฯ ที่หน่วยงานร่วมดำเนินการทุกสาขา ในเขตพื้นที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือสามารถแจ้งความประสงค์ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ www.smebank.co.th แอพลิเคชั่น SME D Bank ภายใน วันที่ 31 ธันวาคม 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo