Business

กนอ. รับลูกครม. เดินเครื่องลุย ‘สมาร์ท ปาร์ค’ มั่นใจ 4 ปี เช่าเต็มพื้นที่

เดินเครื่องลุย สมาร์ท ปาร์ค หลัง ครม.ไฟเขียวลงทุนเฟสแรก 2,370 ล้านบาท ตั้งนิคมฯ 1,383 ไร่ กนอ.ขอเวลาพัฒนา 3 ปี มั่นใจเช่าพื้นที่เต็มภายใน 4 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  หรือ กนอ. เดินเครื่องลุย สมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) หลังจาก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการลงทุนในโครงการ บนพื้นที่ 1,383 ไร่ มูลค่าการลงทุนระยะแรก 2,370 ล้านบาท

เดินเครื่องลุย สมาร์ท ปาร์ค

สำหรับ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จะเข้ามาตอบสนองนโยบายรัฐบาล ในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยคาดว่า จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ ในไตรมาส 1 ปี 2564 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ และมีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม สมาร์ท ปาร์ค จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จะสามารถสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อปี อยู่ที่ 52,934.58 ล้านบาท

ขณะเดียวกันจะเกิดการจ้างงาน ประมาณ 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจ ในพื้นที่ประมาณ 1,342,620,000 บาทต่อปี (คิดฐานเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ15,000 บาท)

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้โดยตรง เช่น มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิง และอื่นๆ ทำให้เกิดการหมุนเวียนในท้องถิ่น เกิดประโยชน์ทางอ้อม ต่อหน่วยงานปกครองท้องถิ่น หรือประฌโยชน์ต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ

ด้าน นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวเสริมว่า นิคมฯสมาร์ท ปาร์ค เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve)

ปัจจุบัน มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation & Logistics) กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical Device) กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)

จากแผนการพัฒนาโครงการ คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนา ปรับพื้นที่ ดำเนินการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ประมาณ 3 ปี โดยในช่วงระยะการก่อสร้าง คาดว่าจะทำให้มีการจ้างงานประมาณ 200 คน และเกิดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในชุมชน ประมาณ 23.7 ล้านบาท/ปี (คิดอัตราฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 330 บาท)

ในส่วนของทำเลที่ตั้งของโครงการ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ถือว่าอยู่ตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ดี โดยอยู่ห่างจากท่าเรือมาบตาพุด 7 กม. ห่างจากสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา 17 กม. และห่างจากท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ 29 กม. ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง 53 กม. และห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 150 กม. อีกทั้งมีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นแหล่งผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบ (Raw materials sources ) และอยู่ในเขตส่งเสริมของอีอีซี

นางสาวสมจิณณ์ กล่าวว่า หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าพื้นที่จะถูกเช่าหมด ภายในระยะเวลา 4 ปี เนื่องจากเป็นนิคมฯ ที่รองรับการลงทุน ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งรวมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกัน

ขณะเดียวกัน ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ ที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม รวมทั้งอาคารต่าง ๆ ต้องมีมาตรฐานระดับสากล และก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตในด้านอื่น ๆ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo