Lifestyle

‘ผู้ป่วยสมองเสื่อม’ แพทย์แนะ คนดูแลต้องพร้อมทั้งกาย-ใจ

ผู้ป่วยสมองเสื่อม กรมการแพทย์ แนะผู้ดูแล ต้องเข้าใจ อดทน ใจเย็น และหมั่นดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง อทั้งกาย ใจ เพื่อดูแลผู้ป่วยให้มีสุขภาพดี มีความสุข

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม ต้องประสบกับปัญหาความจำ หลงลืม ไม่สามารถจำสิ่งใหม่ๆได้ มีปัญหาทางด้านอารมณ์ หงุดหงิดง่าย สิ้นหวัง ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ผู้ป่วยสมองเสื่อม

นอกจากนี้ ยังอาจทำพฤติกรรมบางอย่าง ที่ไม่เหมาะสม เช่น ตะโกน ก้าวร้าว มีอาการทางจิต หวาดระแวง หูแว่ว ภาพหลอน ตลอดจนไม่สามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจ และ ไม่เข้าใจการสื่อสารของผู้อื่นเช่นกัน

ดังนั้น ผู้ดูแลผู้ป่วย จึงต้องทำความเข้าใจ กับภาวะของโรคสมองเสื่อม เพื่อจะได้ให้การดูแล และเข้าใจอาการของผู้ป่วยมากขึ้น

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการ สถาบันเวชศาสตร์ สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะโรคสมองเสื่อม ที่ผู้ป่วยต้องประสบอยู่ การดูแล มักจะตกเป็นภาระ ของสมาชิกครอบครัว คนใดคนหนึ่ง อาจทำให้ผู้ดูแลมีความรู้สึกฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย พูดจา และมีพฤติกรรมที่รุนแรงกับผู้ป่วย

ดังนั้น ก่อนที่จะดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี จะต้องดูแลตนเอง ให้มีสุขภาพที่ดีก่อน เช่น ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี

สมองเสื่อม

นอกจากนี้ ยังควรป้องกันตนเอง จากการบาดเจ็บ จากการดูแลผู้ป่วย เช่น ปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอาการปวดหลัง ปวดไหล่ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก การเคลื่อนย้าย หรือ ยกตัวผู้ป่วยไม่ถูกวิธี และเกินกำลังของตน

นอกจากนี้ ควรทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสุข คลายความเครียด และที่สำคัญ ควรเตรียมแผนสำรอง ในกรณีที่ตนเองมีภารกิจส่วนตัว ที่จำเป็นหรือเจ็บป่วย

อย่างไรก็ตาม ทุกคนในครอบครัว ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ไม่ทิ้งภาระทั้งหมด ให้แก่ผู้ดูแลหลักเพียงคนเดียว และควรจัดแบ่งเวลาให้เหมาะสม เพื่อการดูแลผู้ป่วย ให้มีสุขภาพดี และมีความสุข

ขณะที่ โรงพยาบาลเปาโล ให้ความรู้เกี่ยวกับ โรคสมองเสื่อมว่า เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม 30%

ผู้ป่วยสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากส่งผลโดยตรง ต่อสุขภาวะของผู้สูงอายุ และบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะผู้ดูแล

อาการที่สำคัญของภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ การเสื่อมลงของความทรงจำ ซึ่งจะมีผลกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก

สำหรับการดูแล ผู้ป่วยสมองเสื่อม สามารถแบ่งออกเป็น ระยะดังนี้

การดูแลผู้ป่วยในระยะแรก

ผู้ป่วย ต้องดูแลตนเองให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ สำหรับผู้ดูแล เน้นการให้ความรู้ และสนับสนุนผู้ป่วยให้พึ่งพาตนเองเท่าที่จะทำได้ ผู้ดูแล อาจนำผู้ป่วยเข้ากลุ่มประคับประคอง (Support groups) หรือการมีกลุ่มเพื่อน เพื่อให้ผู้ป่วยได้พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการดูแลตนเองกับผู้อื่น เพื่อให้มีจิตใจอารมณ์ที่ดี

ขณะเดียวกัน อาจสนับสนุนให้เลี้ยงสัตว์ เพื่อความเพลิดเพลิน และความผ่อนคลายทางใจ ผู้ดูแลและญาติ ควรวางแผนการดูแลผู้ป่วยระยะยาวในอนาคต เพื่อให้เกิดผลดีต่อการจัดการดูแล ในระยะที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้น้อยลง

การดูแลผู้ป่วยในระยะกลาง

ผู้ดูแล ควรเน้นให้คงสภาพที่ผู้ป่วยสามารถพึ่งพาตนเอง ในการทำกิจวัตรประจำวัน และสิ่งต่าง ๆ ให้นานที่สุด ญาติควรจัดให้มีผู้ดูแลที่ผู้ป่วยคุ้นเคย เพราะผู้ป่วยจะวิตกกังวล จากการพรากจากผู้ดูแลที่คุ้นเคย ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย เงียบสงบ ลดสิ่งกระตุ้น หรือลดกิจกรรมที่มากเกินไป

พร้อมกันนี้ ผู้ดูแลอาจต้องขอความรู้ การสนับสนุน และการให้คำปรึกษา เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย และวิธีป้องกันความเครียดที่อาจเกิดขึ้น ในการดูแลผู้ป่วยจากทีมสุขภาพ หรือพยาบาล พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ด้วยกัน ควรวางแผนการผลัดเปลี่ยนผู้ดูแล เพื่อลดความเครียดจากการดูแลผู้ป่วยเป็นเวลานาน

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ญาติ หรือผู้ดูแล มีบทบาทสำคัญ ในการดูแลผู้ป่วยทุก ๆ ด้าน และทำสิ่งต่าง ๆ แทนผู้ป่วย เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ป้อนอาหาร ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมความต้องการทางร่างกาย จิตใจ และสังคม เพื่อลดความวิตกกังวล และความกลัวการถูกทอดทิ้งของผู้ป่วย

เมื่อผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนทางกาย ควรดูแลตามปัญหาที่มี เช่น ปอดอักเสบ ขาดสารอาหาร และให้การดูแลผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต โดยปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเชื่อของผู้ป่วย อยู่เป็นเพื่อน เพื่อดูแลความสุขสบายทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo