Business

‘SABUY’ ระดมทุน ต่อยอดเวนดิ้งแมชชีน สู่ อีโคซิสเต็ม ระบบชำระเงิน

SABUY ระดมทุน เตรียมเข้าเทรด ต้น พ.ย.นี้ ชูธง หุ้นฟินเทค IPO ตัวแรก  ต่อยอดธุรกิจเวนดิ้ง แมชชีน สู่ ระบบชำระเงิน สร้างอีโคซิสเต็มครบวงจร

นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ “SABUY” เปิดเผยว่า SABUY ระดมทุน เพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในกลุ่ม Commerce ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

SABUY ระดมทุน

ทั้งนี้ จะเสนอขายหุ้นสามัญจำนวน 157.02 ล้านหุ้น หรือ 15% ของทุนจดทะเบียน 1,050 ล้านบาท (พาร์ 1 บาท) แก่นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน

การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ดังกล่าว เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ในการขยายกิจการต่าง ๆ อาทิ โครงการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Service), การติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์, บริการระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ แก่ศูนย์อาหารและร้านค้า, การขยายศูนย์กระจายสินค้า และเพิ่มตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ

แผนขยายธุรกิจดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเติบโตให้บริษัท อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท มีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินสำรองต่าง ๆ ตามกฎหมาย

ปัจจุบัน SABUY มีรายได้หลักกว่า 50% จาก ธุรกิจตู้เติมเงินภายใต้ แบรนด์ “เติมสบายพลัส” และ มีรายได้ 30% จากธุรกิจขายสินค้า ผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ โดยในปี 2561 มีรายได้รวม 1,328 ล้านบาท กำไรขั้นต้น 417 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 86 ล้านบาท

SABUY ระดมทุน

ขณะที่ในงวด 9 เดือนแรกปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 892 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้น 400 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 52 ล้านบาท

สำหรับรายได้จากธุรกิจตู้ขายสินค้า เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตโดยเฉลี่ยสูง และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากแผนการเพิ่มจำนวนตู้สินค้าอย่างต่อเนื่อง และ การเพิ่มสินค้าใหม่ที่มีราคาต่อหน่วยสูง เช่น หน้ากากอนามัย เสื้อยืด ซึ่งมีราคาเฉลี่ยประมาณ 100 บาท ทำให้รายได้ต่อตู้จะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่รายได้หลักมาจากการการจำหน่ายเครื่องดื่มราคาเฉลี่ย 10-15 บาทต่อชื้น

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายร้านค้าปลีกอัตโนมัติรูปแบบใหม่ ภายใต้แบรนด์ “6.11 Select” และ “6.11 Corner” รวมถึง ร้านบริการซักผ้าอัตโนมัติ “ SABUY WASH”

สยายปีก 4 กลุ่มธุรกิจต่อยอดเวนดิ้งแมชชีน

ปัจจุบัน ธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ แบ่งออกเป็น 4 ธุรกิจ ได้แก่

1. ธุรกิจตู้เติมเงินอัตโนมัติ ให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เติมเงินอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เติมสบายพลัส” มากกว่า 52,000 ตู้ อาทิ เติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการรับชำระบิล บริการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ บริการฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร และบริการรับชำระบิลสาธารณูปโภค เป็นต้น

VDC left

2. ธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ เน้นการจำหน่ายเครื่องดื่ม, ขนม และ สินค้าต่างๆ ผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ หรือเวนดิ้ง แมชชีนภายใต้แบรนด์ “เวนดิ้งพลัส” และ “6.11” รวมกว่า 5,700 ตู้ ครอบคลุม 21 จังหวัด โดยติดตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติใน ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ โรงงาน สถานศึกษา หอพัก สถานีขนส่ง สถานีบริการน้ำมัน สำนักงาน จุดกระจายและจุดโหลดสินค้า

3. ธุรกิจระบบศูนย์อาหาร ให้บริการติดตั้ง และวางระบบศูนย์อาหารทั้งระบบฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ และเป็นผู้ให้บริการจัดการศูนย์อาหาร พร้อมการบำรุงรักษา โดยมีศูนย์อาหารภายใต้การดูแลทั้งหมด 205 ศูนย์ ตามห้างสรรพสินค้า สำนักงาน โรงงาน สถานศึกษา อาทิ เทสโก โลตัส, ท็อปส์, โรบินสัน และ เทอมินอล21 เป็นต้น

4. ธุรกิจให้บริการการชำระเงิน ผ่านบริษัทย่อย สบาย มันนี ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงิน 4 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money License), ธุรกิจการให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (PA), ธุรกิจการให้บริการสนับสนุนบริการแก่ผู้รับบัตร (PF) และ ธุรกิจการให้บริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Fund Transfer License)

SABUY ระดมทุน

หุ้นฟินเทค ตัวแรกของตลาดหุ้นไทย

ด้าน นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญของ SABUY กล่าวว่า หุ้นไอพีโอ “SABUY” ได้รับความสนใจอย่างสูงจากการโรดโชว์ กับสถาบันการเงินต่าง ๆ เนื่องจากเป็นหุ้นฟินเทค ตัวแรกของตลาดหุ้นไทย

ขณะเดียวกัน ยังเป็นผลมาจากการมีบิสซิเนส โมเดล ที่ดี รวมทั้งมี อีโคซิสเต็ม ของตนเอง ที่มีผู้ใช้มากถึง 27 ล้าน ทรานแซกชั่นต่อปี และ มีแผนการขยายธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตอย่างสูง

บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ “SABUY” มีทุนจดทะเบียน 1,050.00 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 887.98 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 887.98 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท โดยมีกลุ่มรุจนพรพจี และ กลุ่มวีระประวัติ เป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีบริษัทย่อยทั้งหมด 3 บริษัทคือ

  • บริษัท เวนดิ้ง พลัส จำกัด (“VDP”) เป็นผู้บริหารตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวนดิ้งพลัส”
  • บริษัท สบาย มันนี่ จำกัด (“SBM”) ผู้ให้บริการการชำระเงิน ภายใต้เครื่องหมายการค้า “สบาย มันนี่”
  • บริษัท สบาย โซลูชั่นส์ จำกัด (“SBS”) เป็นผู้ให้บริการติดตั้งระบบศูนย์อาหาร บริการระบบศูนย์อาหาร และบริการซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบศูนย์อาหาร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo