Politics

‘บิ๊กป้อม’ สั่งสร้างอาชีพ รองรับคนว่างงานทั่วประเทศ

“บิ๊กป้อม” สั่งสร้างอาชีพ ช่วยคนว่างงาน คนพิการทั่วประเทศ เร่งพัฒนาแรงงาน เน้นยกระดับ สู่มาตรฐานคุณภาพ รองรับอุตสาหกรรมใน EEC เทคโนโลยีชั้นสูง หลังกระทบโควิด-19 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาบุคคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) มีรูปแบบการบริหารร่วม ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากร ด้านยานยนต์ ที่เป็นของคนไทยให้มีศักยภาพตามมาตรฐานการผลิต และสร้างบุคลากรที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ ให้มีมาตรฐานเท่าทันเทคโนโลยีการผลิต

แรงงาน1

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในปี 2563 มีผู้เข้าฝึกอบรมทั้งสิ้น 1,839 คน  ได้รับทราบการดำเนินงาน ของสถาบันพัฒนาบุคลากร สาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ (MARA)  ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน มีผลการดำเนินงานในปี 2563 คือได้ทำการฝึกอบรมให้กับวิทยากรตัวคูณ ของสถานประกอบกิจการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)  เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานรองรับเทคโนโลยีชั้นสูง จำนวน 1,252 คน จากนั้น กพร.ปช. เห็นชอบ แนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve  ปี 2564-2565 และเห็นชอบแนวทางการพัฒนาอาชีพคนพิการ ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 และ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

พล.อ.ประวิตร ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การว่างงาน ของภาคอุตสาหกรรม จากผลกระทบของ Covid-19 และจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงได้กำชับให้โรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งขับเคลื่อนมาตรการพัฒนากำลังคน ทุกระดับของประเทศ จากทุกภาคส่วนโดยจะต้องบูรณาการร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลิตแรงงานไทย รวมถึงส่งเสริมอาชีพคนพิการ อย่างเป็นระบบ ให้สามารถ สร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมไทยในภาวะวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในเรื่องการฝึกอบรมกำลังคน เพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน จะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการติดตาม ประเมินผล อย่างจริงจัง และมีมาตรการทางการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ที่จะช่วยส่งเสริมตลาดแรงงานทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต่อไป

ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าระหว่างปี 2561- 2563 คณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการภายใต้การดำเนินงานของ กพร.ปช. สามารถพัฒนากำลังแรงงานได้กว่า 19 ล้านคน เป็นการสร้างแรงงานใหม่กว่า 7 หมื่นคน การยกระดับทักษะแรงงาน ที่อยู่ในตลาดแรงงานให้ได้มาตรฐานฝีมือ กว่า 19 ล้านคน ให้โอกาสกลุ่มเปราะบางทางสังคมเข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระหรือการเป็นผู้ประกอบการใหม่กว่า 8 แสนคน

นฤมล66

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมบูรณาการระบบข้อมูลด้านแรงงาน เพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนในระดับชาติระหว่างภาครัฐและเอกชนมากกว่า 200 หน่วยงาน การฝึกอบรมของสถานประกอบกิจการในพื้นที่ EEC เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานไทย ให้เป็นแรงงานฝีมือชั้นสูง จำนวน 1,252 คน โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ไทย ยกระดับฝีมือเพื่อเพิ่มทักษะกำลังแรงงานในตลาดแรงงานให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการ และเพิ่มผลิตภาพแรงงานของสถานประกอบกิจการ จำนวน 1,839 คน โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight