World News

‘อาเซอร์ไบจาน-อาร์เมเนีย’ เมินคำขอยูเอ็น ‘หยุดยิง-เจรจาสันติภาพ’

” อาเซอร์ไบจาน-อาร์เมเนีย ” เมินเสียงเรียกร้องจากคณะมนตรีความมั่นคง สหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี)  ที่เรียกร้องให้ 2 ฝ่าย ยุติการสู้รบในเมืองนากอร์โน-คาราบัค ทันที และเร่งเปิดเจรจาโดยไม่มีเงื่อนไข ท่ามกลางความขัดแย้ง ที่มีแนวโน้มว่าจะลุกลาม ขยายวงไปทั้งภูมิภาค

การสู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลอาร์เซอร์ไบจาน กับอาร์เมเนีย ชาติเพื่อนบ้าน ในภูมิภาคคอเคซัส ซึ่งแยกตัวจากสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปี 2534 จากเหตุพิพาทเหนือดินแดน “นากอร์โน-คาราบัค” ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อ ในวันนี้ (30 ก.ย.) ซึ่งนับเป็นวันที่ 3 แล้ว ที่ 2 ฝ่ายเปิดฉากปะกันรอบใหม่ ท่ามกลางความกังวลจากนานาชาติว่า สถานการณ์รุนแรงนี้ อาจบานปลาย ดึงให้ชาติพันธมิตรของ 2 ประเทศ อย่างรัสเซีย ตุรกี และอิหร่าน  เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

อาเซอร์ไบจาน-อาร์เมเนีย
ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ Azərbaycan Respublikası Müdafiə Nazirliyi

เมื่อวานนี้ (29 ก.ย.) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) จัดประชุมฉุกเฉินขึ้นที่นครนิวยอร์ก สหรัฐ หารือถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่ง 15 ประเทศสมาชิก  มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การสู้รบระหว่างอาร์เมเนีย กับอาเซอร์ไบจาน ในเขตนากอร์โน-คาราบัค พื้นที่ขัดแย้งของ 2 ฝ่าย ที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ต้องยุติทันที และ ทั้ง 2 ประเทศต้องกลับมาเจรจากันอย่างไม่มีเงื่อนไข

ยูเอ็นเอสซี ยังแสดงความเสียใจอย่างสูงสุดไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากการสู้รบครั้งนี้ ซึ่งข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ ระบุว่า มีอยู่ประมาณ 100 คน

ขณะที่ประธานาธิบดีอิลฮาม อาลีเยฟ ผู้นำอาเซอร์ไบจาน กล่าวว่ารัฐบาลบากู มีความมุ่งมั่นเจรจาอย่างสันติ แต่อาร์เมเนีย “ไม่ตอบสนอง และยังคงทำตัวเป็นอุปสรรค” โดยเฉพาะการประกาศว่า เขตนากอร์โน-คาราบัค เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตัวเอง ทั้งที่ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) รับรองว่า เป็นดินแดนของอาเซอร์ไบจาน

นายอาลีเยฟ ระบุด้วยว่า หากยอมเปิดเจรจาด้วย แต่นายกรัฐมนตรีนิโคล ปาชินเนียน ผู้นำอาร์เมเนีย ไม่มาเอง แล้วส่งตัวแทนเป็นกองกำลังในเขตนากอร์โน-คาราบัค มาแทน ถือเป็นการละเมิดกรอบข้อตกลงที่จัดตั้งเมื่อปี 2535

ขณะที่นายปาชินเนียน โต้กลับว่า เป็นเรื่องยากที่จะพูดถึงการเจรจา โดยเฉพาะเมื่อยังคงมีปฏิบัติการด้านการทหารอยู่ และว่า การใช้กำลังทางทหารไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา และเรียกร้องขอให้ประนีประนอม

อาเซอร์ไบจาน-อาร์เมเนีย ขัดแย้งกันเรื่องอะไร

บีบีซี รายงานว่า อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน 2 อดีตสาธารณรัฐสมาชิกสหภาพโซเวียตในภูมิภาคคอเคซัส มีความขัดแย้งกันมานานหลายสิบปีแล้ว ต่อการแย่งชิงสิทธิเหนือเขตนากอร์โน-คาราบัค ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน แต่ถูกควบคุมโดยคนเชื้อสายอาร์เมเนีย

ทั้ง 2 ประเทศทำสงครามนองเลือดตั้งแต่ปลายทศวรรษ 80 จนถึงต้นทศวรรษ 90 ทำให้คนถึงล้านคน ต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ และแม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะประกาศหยุดยิง แต่ก็ไม่เคยบรรลุข้อตกลงสันติภาพ

อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน มีที่ตั้งอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ หรือภูมิภาคที่ชื่อว่าคอเคซัส ซึ่งมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มาก เนื่องจากฝั่งตะวันตกอยู่ติดกับตุรกี มีอิหร่านอยู่ทางใต้ จอร์เจียอยู่ทางเหนือ รัสเซียก็อยู่ทางตอนเหนือ ฝั่งอาเซอร์ไบจาน

ประชาชนส่วนใหญ่ในอาร์เมเนียเป็นชาวคริสต์ ส่วนอาเซอร์ไบจานซึ่งร่ำรวยจากการค้าน้ำมันเป็นชาวมุสลิม สมัยสหภาพโซเวียต ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัคมีชาวเชื้อสายอาร์เมเนียอาศัยอยู่ แต่กลับถูกปกครองโดยทางการอาเซอร์ไบจาน

ช่วงปลายทศวรรษ 80 เมื่อสหภาพโซเวียตใกล้ล่มสลาย รัฐสภาเขตนากอร์โน-คาราบัค ลงมติตกลงเป็นส่วนหนึ่งของอาร์เมเนีย  สถานการณ์ที่ทำให้เกิดการปะทะกัน ของคน 2 เชื้อชาติ และเมื่อเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต ความขัดแย้งนี้ก็กลายเป็นสงครามอย่างเต็มรูปแบบ มีคนหลายหมื่นเสียชีวิต และคนถึงล้านคน ต้องอพยพย้ายถิ่น ทั้งยังมีรายงานว่าต่างฝ่ายก็ต่างมุ่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งกัน และกัน

กองกำลังอาร์เมเนียเข้าควบคุมนากอร์โน-คาราบัคได้อย่างเต็มที่ ก่อนที่จะประกาศหยุดยิงในปี 2537 โดยได้รัสเซียเข้ามาช่วยเจรจา ซึ่งภายใต้ข้อตกลงในครั้งนั้น นากอร์โน-คาราบัค จะยังเป็นเขตแดนของอาเซอร์ไบจานอยู่ แต่จะถูกปกครองโดยคนเชื้อสายอาร์เมเนีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอาร์เมเนีย

อาเซอร์ไบจาน-อาร์เมเนีย
ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ Azərbaycan Respublikası Müdafiə Nazirliyi

หลังจากนั้นก็มีการเจรจาสันติภาพอีก โดยกลุ่มโอเอสซีอี มินสค์ (OSCE Minsk Group) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2535 นำโดยฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐ จัดประชุมที่กรุงมินสค์ของเบลารุส

แต่ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่เคยมีการบรรลุข้อตกลงสันติภาพ และก็มีการปะทะกันตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2559  ที่การปะทะกันรุนแรงมาก จนทหารของแต่ละฝ่ายเสียชีวิตไปหลายสิบนาย

ภูมิศาสตร์การเมืองยิ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อนเข้าไปอีก เพราะตุรกี ประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เป็นประเทศแรกที่ถือว่า อาเซอร์ไบจานเป็นเอกราชในปี 2534 และ นายเฮจแดร์ แอริเยฟ ประธานาธิบดีคนที่สามของอาร์เซอร์ไบจาน บอกว่า 2 ประเทศเป็น “หนึ่งชาติที่ประกอบไปด้วยสองรัฐ”

ขณะเดียวกัน อาร์เมเนียก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย โดยรัสเซียมีฐานทัพในประเทศ และทั้งสองประเทศได้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรทางการทหารร่วมกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo