Business

‘สารสาสน์’ ธุรกิจพันล้าน กับ ‘วิกฤติเชื่อมั่น’ สั่นคลอนแบรนด์ 56 ปี

‘สารสาสน์’ ธุรกิจพันล้าน การสร้างแบรนด์ตลอดระยะเวลา 56 ปี จากความเชื่อมั่นในระบบการเรียนการสอน มาวันนี้ ต้องเผชิญวิกฤติ ครั้งใหญ่ จนอาจทำลายแบรนด์ก็เป็นได้

จุดเริ่มต้นของ “สารสาสน์” ธุรกิจพันล้าน หรือ โรงเรียนเครือสารสาสน์ ก่อตั้งโดย “พิบูลย์ ยงค์กมล” ที่ลงขันกับเพื่อนครู เปิดโรงเรียนแห่งแรก ย่านสาธุประดิษฐ์ ภายใต้ชื่อ “โรงเรียนสารสาสน์พิทยา” ในปี 2507 จากนั้นได้เปิดแห่งที่ 2 ในชื่อ โรงเรียนสารสาสน์พัฒนา ในปี 2512 โดยร่วมทุนกับพี่สาว “เพ็ญศรี ยงค์กมล

สารสาสน์ ธุรกิจพันล้าน

ชื่อเสียงของ โรงเรียนเครือสารสาสน์ ได้รับการยอมรับอย่างมาก หลังจากเปิดหลักสูตร “สองภาษา” (Bilingual) ไทย-อังกฤษ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2536 ด้วยการพัฒนาเป็นBilingual Program” ในโรงเรียนสารสาสน์พิทยา

จากนั้นมา ชื่อเสียงของ สารสาสน์ ก็เลื่องลือขจรไกล โดยเฉพาะการเป็น โรงเรียนสองภาษา ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ต้องการให้บุตรหลาน มีพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษ ต่างปักหมุด โรงเรียนสารสาสน์ เป็นโรงเรียนแรก ที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียน แม้ค่าเทอมจะสูงมากก็ตาม

ปัจจุบัน โรงเรียนเครือสารสาสน์ สยายอาณาจักรออกไปถึง 49 สาขา ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยเฉพาะในชื่อ “สารสาสน์วิเทศ” โดยใช้ชื่อทำเลที่ตั้งโรงเรียน ต่อท้าย เช่น สารสาสน์วิเทศบางบัวทอง, สารสาสน์วิเทศร่มเกล้า, สารสาสน์วิเทศนครราชสีมา, สารสาสน์วิเทศเชียงใหม่, สารสาสน์วิเทศบางบอน เป็นต้น

หลักสูตรของ “สารสาสน์” มี ตั้งแต่ระดับชั้นเตรียมอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมถึงเปิด โรงเรียนสายอาชีวะศึกษา อาทิ วิทยาลัยเทคโนโลยีสารสาสน์, วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจยานนาวา และ วิทยาลัยเทคโนโลยีสารสาสน์บริหารธุรกิจกาญจนบุรี

การเติบโตของสารสาสน์ ยังคงขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดการเรียนการสอน ถึงระดับปริญญาตรี และปริญญาโท โดยจัดตั้ง สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ เปิดสอนคณะบริหารธุรกิจ, คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และคณะนิติรัฐประศาสนศาสตร์ ขณะที่หลักสูตรปริญญาโท เปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต

สารสาสน์

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า หลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในบรรดาธุรกิจสถาบันการศึกษา เครือสารสาสน์ ยังคงเป็น หลักสูตรเด็กเล็ก จนถึงประถมศึกษา เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ ต้องการปูพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษ ให้กับบุตรหลาน

เมื่อดูถึงรายได้ของ โรงเรียนเครือสารสาสน์ พบว่า ล่าสุดปี 2562 มี รายได้รวม 1,452 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ทำรายได้รวมอยู่ที่ 1,337 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 8.59% ส่วนปี 2560 มีรายได้อยู่ที่ 1,295 ล้านบาท

ขณะที่กำไรสุทธิ ปี 2562 อยู่ที่ราว 367 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 37.57% จากเดิมปี 2561 ทำกำไรสุทธิไป 267 ล้านบาท แต่เป็นการทำกำไรที่ลดลงจากปีก่อนหน้า 2560 ที่มีกำไรถึง 369 ล้านบาท

เมื่อดูจากเส้นทางเดินของ เครือสารสาสน์ ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ ให้เป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองอย่างวันนี้ แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุด กรณี ครูพี่เลี้ยง มีพฤติกรรมทำความรุนแรง กับเด็ก และกลายเป็นเรื่องราวลุกลามบานปลาย เมื่อเจอเคสความรุนแรงอีกหลายกรณี อีกทั้งยังไม่ได้รับการเยียวยา หรือแก้ปัญหาที่เหมาะสมจากทางโรงเรียน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ล่าสุด ผู้ก่อตั้ง และประธาน ซึ่งถือเป็นผู้บริหารสูงสุด ของเครือสารสาสน์ อย่าง “พิบูลย์ ยงค์กมล” ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาออกมาให้ หรือการแสดงความรับผิดชอบ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้ ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข จนอาจกลายเป็น “วิกฤติศรัทธา” ที่มีต่อแบรนด์ สารสาสน์ ในที่สุด

ตัวอย่างเช่น การสัมภาษณ์ในรายการ โหนกระแส ที่ ประธานเครือสารสาสน์ บอกว่า ครูไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ก็ขอผ่อนผันได้ ยิ่งตอกย้ำให้เกิดความไม่มั่นใจ ในมาตรฐานของครูผู้สอน มากขึ้นไปอีก

ดังนั้น กรณีนี้ ต้องจับตามองถึงการแก้ปัญหานับจากนี้ ว่า สารสาสน์ จะหาทางออกแบบไหน เพื่อ แก้วิกฤติศรัทธา ให้ความเชื่อมั่นแบรนด์กลับมา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo