The Bangkok Insight

เคาะลงทุน 2,300 ล้าน นิคมอุตสาหกรรม ‘Smart Park’ ระยอง หนุนอีอีซี

Smart Park ระยอง คืบ ครม.เคาะลงทุน 2,300 ล้านบาท พื้นที่ 1,300 ไร่ หนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย กระตุ้นลงทุนอีอีซี คาดสร้างเงินหมุนเวียนปีละ 1,342 ล้านบาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ การลงทุนโครงการพัฒนา นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จังหวัดระยอง พื้นที่รวม 1,383 ไร่ มูลค่าประมาณ 2,370 ล้านบาท ตามที่ กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

Smart Park

ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล สำหรับการลงทุน ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะ อุตสาหกรรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสอดรับกับนโนยาย อุตสาหกรรม 4.0

สำหรับ นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะใช้เวลาก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ประมาณ 3 ปี และจะจัดทำแผนการตลาด เพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการ และนักลงทุน โดยคาดว่า พื้นที่จะถูกเช่าหมดภายใน 4 ปี หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเกิดการจ้างงานประมาณ 7,459 คน และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจพื้นที่ ประมาณ 1,342 ล้านบาทต่อปี

นางสาวรัชดา กล่าวว่า โครงการดังกล่าว จะตั้งอยู่ในตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีระยะทาง ห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 7 กิโลเมตร สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา 17 กิโลเมตร ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ 29 กิโลเมตร ท่าเรือแหลมฉบัง 53 กิโลเมตร และสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ 150 กิโลเมตร เนื้อที่โครงการทั้งหมด 1,383 ไร่

รัชดา ธนาดิเรก

สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะแบ่งออกเป็น

  • พื้นที่อุตสาหกรรม จำนวน 621.55 ไร่
  • พื้นที่พาณิชยกรรม จำนวน 150.54 ไร่
  • พื้นที่สาธารณูปโภค เช่น พื้นที่จอดรถส่วนกลาง ระบบผลิตน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย สถานีไฟฟ้าย่อย และถนน จำนวน 373.35 ไร่
  • พื้นที่สีเขียว และแนวกันชน จำนวน 238.32 ไร่

ขณะที่ เป้าหมายของโครงการ จะมุ่งเน้นการลงทุนของ อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์

ขณะเดียวกัน จากวิเคราะห์ความเหมาะสมทางการเงิน และเศรษฐกิจของโครงการ ระยะเวลา 30 ปี พบว่า มีความคุ้มทุนในทางการเงิน และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 585.74 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนของโครงการ (IRR) ร้อยละ 8.91 ซึ่งมากกว่าต้นทุนถัวเฉลี่ย ถ่วงน้ำหนักของเงินทุน (WACC) ของ กนอ. (ร้อยละ 7.25) มีระยะเวลาคืนทุน 14 ปี

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้ทุกกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยึดหลักการดูแลสิ่งแวดล้อม และหลักสิทธิมนุษยชน ทุกส่วนราชการจะต้องเข้มงวด ในเรื่องการติดตามและประเมินผล เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นส่วนหนึ่งของ การยกระดับอุตสาหกรรมไทย เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้เร็วขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรม ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการยุคใหม่ ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo