Digital Economy

รัฐ-เอกชนเปิดภาพ ไทยพร้อมหรือยังกับ ‘สมาร์ทซิตี้’

city

เอ่ยถึงการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ปัจจุบันมีภาพความสำเร็จของมหานครทั่วโลกในการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะเข้ามาปรับใช้กับเมือง และประชากรที่อยู่อาศัยภายในเมืองให้ได้รับความสะดวกสบาย ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งภาพของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้ปรากฏอยู่ในงานสัมมนา “Delta Future Industry Summit 2018 : นวัตกรรมสำหรับเมืองอัจฉริยะ” ด้วยเช่นกันกับการนำเสนอภาพของเมืองใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีมาลดปัญหาได้อย่างเหมาะสม

โดยนายเซีย เชน เยน ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ได้ยกตัวอย่างของกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ก่อนหน้านี้เคยประสบปัญหาด้านมลพิษในอากาศ และจากการศึกษาข้อมูลทำให้พบว่ามลพิษเหล่านั้น 30% มาจากการปล่อยควันเสียของรถยนต์ จึงนำไปสู่การสนับสนุนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และลดการใช้รถโดยสารที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลง เปลี่ยนไปสู่รถบัสอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนั้นยังสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ความร่วมมือกันเหล่านี้ทำให้กรุงปักกิ่งใช้เวลาเพียง 2 – 3 ปี ก็สามารถแก้ไขปัญหาด้านมลพิษในอากาศได้

อีกด้านของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เห็นภาพชัดในจีนคือเรื่องของ Digital Payment ที่ทำให้คอนซูเมอร์เกิดความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย โดยนายเซีย เชน เยน มองว่า ทักษะที่กล่าวมานี้ สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาตามนโยบาย Thailand 4.0 ได้ด้วยเช่นกัน

ขณะที่นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะว่า การมีโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็น หนึ่งในนั้นคืออินเทอร์เน็ตหมู่บ้านที่จะมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สาธารณสุข การเข้าถึงบริการภาครัฐ และส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมยุคใหม่ เช่น โรโบติกส์ และเพื่อให้เกิดภาพเหล่านี้ รัฐบาลจึงพยายามสร้างให้เกิดสมาร์ทซิตี้ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมของการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด พร้อมกับการตั้งเป้าว่า ภายใน 5 ปี ทั้ง 77 จังหวัดจะได้รับการยกระดับเป็นสมาร์ทซิตี้ทั้งหมด จากที่มีจังหวัดนำร่องเพียง 7 จังหวัดในตอนนี้ได้แก่ ภูเก็ต, กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ขอนแก่น, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา และระยอง

“นิยามสมาร์ทซิตี้ในแบบไทย ๆ คือเป็นเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองที่บริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคาดการณ์ล่วงหน้า และแก้ปัญหาได้ก่อนที่ปัญหาจะเกิด สามารถลดค่าใช้จ่าย และสร้างการมีส่วนร่วมของประชากรภายในเมืองได้โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี”

ทั้งนี้ นโยบายของภาครัฐเกิดขึ้นจากเทรนด์การเคลื่อนย้ายประชากรโลกที่พบว่า ภายในปี 2573 (2030) ประชากรโลกถึง 70% จะเข้ามาอาศัยในเมืองใหญ่ ดังนั้น เมืองจำเป็นต้องมีระบบรองรับการจัดการน้ำ ไฟ ขยะ พลังงาน การจราจร ฯลฯ

“สำหรับประเทศไทย ตอนนี้ถือว่ามีภาพที่ชัดเจนว่าเราจะเดินอย่างไร สมาร์ทซิตี้ต้องเริ่มจากคนในท้องถิ่น ต้องเริ่มในลักษณะแพลตฟอร์ม บทบาทของภาครัฐก็คือการสนับสนุนส่งเสริมผ่านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปได้ว่า โซลูชันสมาร์ทซิตี้ที่ทำในไทยนี้ อาจขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย”

กฎระเบียบที่เข้มงวด – มะเร็งการพัฒนา

20180918 102751
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวัทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวให้ความเห็นถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะว่า ควรส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในเด็กและเยาวชน เพราะคนเหล่านี้คือคนที่จะเติบโตขึ้นไปพร้อม ๆ กับการสร้างเมืองอัจฉริยะ โดยหัวใจหลักของเมืองอัจฉริยะไม่ใช่เทคโนโลยี แต่คือการมีส่วนร่วมของคนในเมือง ดังนั้น เมืองอัจฉริยะจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากประชาชนไม่เห็นค่า และไม่เข้ามามีส่วนร่วม

“ภาคการศึกษาต้องปรับตัวให้มีความยืดหยุ่น กฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไปเป็นมะเร็งร้ายที่ทำให้การเติบโตของเมืองอัจฉริยะต้องหยุดชะงักลง”

“ภาพของเมืองที่เราคุ้นเคย อาจเป็นเมืองที่อากาศสกปรก เมืองที่มีสายไฟฟ้ายุ่งเหยิง เมืองที่มีปัญหาจราจร การพัฒนาเมืองในลักษณะนี้ไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ เราก็คาดหวังว่า จะทำให้ประชากรมีความสุขมากขึ้น มีความสามารถที่จะสร้างงานได้มากขึ้น ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืนมากขึ้น ความเครียดลดลง ถ้าภาพเป็นแบบนั้นประชาชนได้รับประโยชน์แน่นอน แต่การทำเรื่องนี้จะสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้รับการร่วมมือจากทุกภาคส่วน”

 

Avatar photo