Lifestyle

ทำความรู้จัก ‘ดาวอังคาร’ ก่อนรับชมปรากฏการณ์ใกล้โลกที่สุดวันนี้!

ดาวอังคารใกล้โลก ทำความรู้จัก “ดาวอังคาร” ก่อนรับชมปรากฏการณ์ ดาวอังคารใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลกประมาณ 62 ล้านกิโลเมตร วันนี้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า วันที่ 6 และ 14 ตุลาคมนี้ ชวนจับตา #ดาวอังคารใกล้โลก และ #ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์

ก่อนที่จะรับชมปรากฏการณ์ “ดาวอังคารใกล้โลกที่สุด” วันนี้ เรามาทำความรู้จักกับ “ดาวอังคาร” กันก่อน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ #ดาวอังคาร (Mars) เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 4 ในระบบสุริยะ มีสีแดงเนื่องจากพื้นผิวปกคลุมไปด้วยฝุ่นของสนิมเหล็ก มีชั้นบรรยากาศที่เบาบาง ประกอบด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์กว่าร้อยละ 95 ที่เหลือเป็นแก๊สไนโตรเจน อาร์กอน และแก๊สอื่น ๆ ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่า ในอดีตดาวอังคารอาจเคยมีสภาพที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากกว่านี้ และเป็นเป้าหมายถัดไปที่มนุษย์ต้องการจะพิชิต

ดาวอังคาร6101
ภาพจาก Pixabay

#ดาวอังคารไม่ใช่ฝาแฝดของโลก เนื่องจากดาวอังคารมีขนาดเล็กกว่าโลกประมาณครึ่งหนึ่ง (ใหญ่กว่าดวงจันทร์ประมาณ 2 เท่า) มีชั้นบรรยากาศที่เบาบางมาก และแทบไม่มีสนามแม่เหล็กอยู่เลย ซึ่งแตกต่างจากโลกค่อนข้างมาก แต่ถึงกระนั้น ดาวอังคารกลับเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจมากที่สุด ทั้งในเรื่องการค้นหาสิ่งมีชีวิตและการสร้างอาณานิคมบนดาวดวงอื่น

#บนดาวอังคารคุณจะกระโดดได้สูงกว่าเดิม 3 เท่า ดาวอังคารมีแรงโน้มถ่วงประมาณ 0.37 เท่าของโลก หมายความว่า หากเราอาศัยอยู่บนดาวอังคาร จะสามารถกระโดดได้สูงกว่าเดิมประมาณ 3 เท่า

#ทะเลทรายอันหนาวเหน็บ ดาวอังคารมีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งที่ราบ ภูเขาสูง หุบเหวลึก ซึ่งโดยรวมแล้วจะคล้ายกับพื้นที่แห้งแล้งที่พบบนโลก แต่เนื่องจากมีบรรยากาศที่เบาบางทำให้ไม่สามารถกักเก็บความร้อนเอาไว้ได้ จึงมีอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยต่ำถึง -65 องศาเซลเซียส

#มองเห็นดวงอาทิตย์มีขนาดเล็กลงเกือบครึ่งหนึ่ง เนื่องจากดาวอังคารอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ออกไปประมาณ 228 ล้านกิโลเมตร ในขณะที่โลกห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร ดวงอาทิตย์ที่ปรากฏบนท้องฟ้าของดาวอังคารจึงมีขนาดเล็กลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับบนโลก

#ขั้วน้ำแข็งขนาดใหญ่ บริเวณขั้วดาวทั้งขั้วเหนือและขั้วใต้ มีผืนน้ำแข็งขนาดใหญ่ปกคลุมอยู่ ส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็งจากน้ำ (H2O) และบางส่วนเป็นน้ำแข็งแห้ง (CO2) รวมถึงยังพบหลักฐานว่าอาจมีน้ำฝังอยู่ชั้นใต้ดิน ซึ่งชั้นดังกล่าวอาจทำให้น้ำมีสถานะเป็นของเหลวได้

#โอลิมปัสภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ภูเขาไฟโอลิมปัส (Olympus Mons) เป็นภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ความสูงประมาณ 26 กิโลเมตร สูงกว่ายอดเขาเอเวอเรสต์ประมาณ 3 เท่า

#ร่องรอยของน้ำบนดาวอังคาร พื้นผิวดาวอังคารบางพื้นที่มีลักษณะคล้ายกับเคยเป็นลำธารมาก่อน นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่า ในอดีตดาวอังคารอาจมีสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากปัจจุบันมาก และน่าจะมีน้ำในสภาพของเหลวปกคลุมอยู่ทั่วไป

#Mars3 ยานลำแรกที่ลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จ “Mars 3” ยานสำรวจดาวอังคารของสหภาพโซเวียต ที่ส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี ค.ศ. 1971 ยานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนโคจรรอบดาว (Orbiter) และส่วนลงจอด (Lander) นับเป็นยานอวกาศลำแรกที่สามารถลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ

#ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกทุก 2 ปี ดาวอังคารโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบ 687 วัน ในขณะที่โลกโคจรรอบด้วยคาบ 365.25 วัน ดังนั้น ดาวอังคารและโลกจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กันทุก ๆ 2 ปี

120471996 3541649562565299 2013762028682026887 o

ซึ่งเกิดขึ้นในปีนี้ ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2563 โดยจะเข้ามาใกล้ที่สุดที่ระยะห่าง 62 ล้านกิโลเมตร ในคืนดังกล่าว ดาวอังคารสว่างเด่นที่สุด เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูงจะสามารถเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวดาวอังคารได้ และในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ดาวอังคารจะมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ทำให้สามารถเห็นดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืน

ชวนดู #ดาวอังคาร ปรากฏสีส้มแดงสว่างเด่นชัด หากฟ้าใสไร้ฝนสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าทั่วไทย หรือจะมาดูพื้นผิวและขั้วน้ำแข็งดาวอังคารผ่าน #กล้องโทรทรรศน์ กับ NARIT ที่ 4 จุดสังเกตการณ์หลัก เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ก็ได้ และพิเศษสำหรับครั้งนี้ เรามี LIVE ปรากฏการณ์ทางเฟซบุ๊ก NARIT ด้วย!

ช่วงนี้ หากสังเกตท้องฟ้าทางทิศตะวันออกในตอนกลางคืน จะเริ่มเห็นดาวอังคารสว่างเด่นชัดอยู่บนท้องฟ้า เป็นสัญญาณให้รู้ว่าดาวอังคารจะกลับมาใกล้โลกอีกครั้ง ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ดาวอังคารใกล้โลกที่สุดคือ ช่วงระหว่างวันที่ 6 – 14 ตุลาคม 2563

#6ตุลาคม ดาวอังคารจะโคจรอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลกประมาณ 62 ล้านกิโลเมตร ค่าอันดับความสว่างปรากฏอยู่ที่ประมาณ -2.6 (ค่าอันดับความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 10 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นผิวดาวอังคารได้อย่างชัดเจน

#14ตุลาคม ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Mars Opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคารจะเรียงตัวอยู่ในเส้นเดียวกัน เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ดาวอังคารจะโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกพอดี มีระยะทางห่างจากโลกประมาณ 62.7 ล้านกิโลเมตร ทำให้สามารถสังเกตการณ์ดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป

ทางด้าน NARIT เตรียมจัดสังเกตการณ์ดาวอังคารทั้ง 2 วัน ชวนมาส่องดาวเคราะห์แดงผ่านกล้องโทรทรรศน์ สังเกตพื้นผิวและน้ำเเข็งขั้วใต้บนดาวอังคาร พร้อมส่องวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ กระจุกดาวทรงกลม M4 กระจุกดาวคู่ กาแล็กซีแอนโดรเมดา

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2563 “ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุด”

วันพุธที่ 14 ตุลาคม 2563 “ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์”

เริ่มเวลา 18:00 – 22:00 น.

120199626 3537067253023530 4221889500995383139 n

พบกันที่ 4 จุดสังเกตการณ์หลัก

  • #เชียงใหม่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 081-8854353
  • #นครราชสีมา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา โทร. 086-4291489
  • #ฉะเชิงเทรา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา โทร. 038-589395
  • #สงขลา หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา โทร. 095-1450411

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo