Business

โลกหลังโควิด ‘แพลตฟอร์มออนไลน์’ เปลี่ยนชีวิต ธุรกิจต้องปรับตาม

แพลตฟอร์มออนไลน์ เปลี่ยนชีวิต โลกหลังโควิดพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนไปจากวิถีใหม่ กลายเป็นวิถีปกติ อีไอซี แนะธุรกิจ ต้องจับเทรนด์ พร้อมปรับตัวรับ New Normal

อีไอซี (EIC) วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย โดยใช้ข้อมูล Google Trends ซึ่งเป็นข้อมูลแนวโน้มการค้นหาคำต่าง ๆ ผ่าน Google Search พบว่า พฤติกรรมการใช้ แพลตฟอร์มออนไลน์ เปลี่ยนชีวิต ผู้คนให้กลายเป็นวิถีใหม่ (New normal) ของคนไทย

แพลตฟอร์มออนไลน์ เปลี่ยนชีวิต

การแพร่ระบาดของ โควิด-19 กระตุ้นให้คนไทย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ทั้งจากความกังวล เกี่ยวกับการแพร่ระบาด ของไวรัส และมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ทำให้ผู้คน หลีกเลี่ยงกิจกรรม ที่ต้องออกนอกบ้าน

แต่หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาด สามารถควบคุมได้ดีระดับหนึ่ง รัฐบาลจึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ทำให้ผู้บริโภคเริ่มคลายความกังวล และปรับพฤติกรรมการบริโภคอีกครั้ง

อีไอซี วิเคราะห์ข้อมูล Google Trends ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับความสนใจ ของผู้บริโภคคนไทย ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

คนไทยสนใจกิจกรรมนอกบ้านเพิ่มขึ้น หลังคลายช่วงล็อกดาวน์

แม้ว่าในช่วงที่ รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ ในเดือนเมษายน คนไทยจะสนใจกิจกรรมนอกบ้านลดลง แต่หลังจากรัฐบาลผ่อนคลาย มาตรการล็อกดาวน์ ความสนใจกิจกรรมนอกบ้าน ก็เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากการค้นหาคำว่า “โรงแรม” และ “อาหารบุฟเฟต์” ที่ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 มีจำนวนการค้นหา สูงกว่าช่วงล็อกดาวน์ (เดือนเมษายน-พฤษภาคม) ถึง 470% และ 232% ตามลำดับ และความสนใจต่อทั้ง 2 กิจกรรม ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกัน ของปีก่อนอีกด้วย

แพลตฟอร์มออนไลน์ เปลี่ยนชีวิต

ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความต้องการ ที่สะสมมาจากช่วงล็อกดาวน์ (pent-up demand) การมีช่วงวันหยุดยาวพิเศษ และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ความสนใจที่เพิ่มขึ้นผ่าน Google Search ไม่ได้หมายถึง การใช้จ่ายที่กลับมา ในระดับเดียวกัน สะท้อนจากทั้งการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค และปริมาณการท่องเที่ยวในประเทศ ที่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้กิจกรรมนอกบ้าน อาทิ การไปโรงภาพยนตร์ ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าช่วงปกติ สะท้อนจากจำนวนการค้นหา ชื่อเครือโรงภาพยนตร์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 ที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในช่วงเดียวกันระหว่างปี 2560-2562 ถึง 44%

กิจกรรมภายในบ้านในช่วงกักตัว ยังคงได้รับความนิยมสูงกว่าในอดีต

ในช่วงกักตัวอยู่บ้าน ผู้คนเริ่มหากิจกรรมในบ้าน ชดเชยการออกนอกบ้าน จึงเกิดกระแสกิจกรรมภายในบ้าน หลากหลายประเภท เช่น

  • การทำอาหารที่บ้าน สะท้อนจากคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง กับอุปกรณ์เครื่องครัว อาทิ “หม้อทอดไร้น้ำมัน” และ “เตาอบ” ได้รับความนิยมสูงสุด ในเดือนพฤษภาคม โดยคำค้นหาอุปกรณ์เครื่องครัวสูงสุดถึง 474% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน
  • การปลูกผักและต้นไม้ จากยอดค้นหา คำที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผัก และต้นไม้ สูงสุด ในเดือนมิถุนายนสูงถึง 49% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน

กิจกรรมในบ้าน

  • การออกกำลังกายในบ้าน จากคำค้นหาวิดีโอ ที่เกี่ยวข้องกับ การออกกำลังกายใน Youtube เพิ่มขึ้นสูงสุด ในเดือนพฤษภาคมถึง 122% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน
  • การทำงานที่บ้าน สะท้อนจากความสนใจ อุปกรณ์สำหรับการทำงานที่บ้าน เช่น โต๊ะทำงาน เก้าอี้ คีย์บอร์ดและเมาส์ เป็นต้น ซึ่งสูงสุด ในเดือนมิถุนายนถึง 30% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน

อยางไรก็ตาม กิจกรรมภายในบ้าน ที่กล่าวมาข้างต้น ได้รับความสนใจลดลง หลังจากที่เริ่มสามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้  สะท้อนจากคำค้นหาตามคีย์เวิร์ดดังกล่าว ที่มีแนวโน้มลดลง ตั้งแต่เริ่มมีมาตรการผ่อนปรน มาตรการล็อกดาวน์ และอาจรวมไปถึงการที่คีย์เวิร์ดบางคำ เป็นเพียงการค้นหา ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

การค้นหาคำเกี่ยวกับเทรนด์ต่าง ๆ ข้างต้น ถิอว่ายังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ซึ่งบ่งชี้พฤติกรรม New normal โดยอาจมาจากการที่ หลายคนได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน มาเป็นการทำงานที่บ้าน (work from home) ในสัดส่วนที่มากขึ้น ความนิยมสำหรับกิจกรรมในบ้าน จึงมีมากกว่าช่วงก่อน โควิด-19

แพลตฟอร์มออนไลน์ เปลี่ยนชีวิต

โควิด-19 เร่งให้แพลตฟอร์มออนไลน์ได้รับความนิยมสูงกว่าปกติ

ในช่วงก่อนสถานการณ์ โควิด-19 คนไทยมีแนวโน้มปรับตัวมาใช้ แพลตฟอร์มดิจิทัล มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากแนวโน้มการค้นหา ที่เกี่ยวข้องกับบริการออนไลน์ ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย โควิด-19 ได้ช่วยเร่งกระแส การปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น

สะท้อนจาก ปริมาณการค้นหา คำที่เกี่ยวข้องกับบริการออนไลน์ต่าง ๆ ที่เร่งตัวจากแนวโน้มปกติ อย่างเห็นได้ชัด จากความจำเป็นในการเข้าถึง สินค้าและบริการ ในช่วงที่ช่องทางเดิม มีข้อจำกัดในการใช้บริการ

ตัวอย่างเช่น การซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ทดแทนการไปห้างสรรพสินค้า, การใช้บริการ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ทดแทนการรับประทานอาหารที่ร้าน, การประชุมทางไกล ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทดแทนการประชุมแบบปกติ หรือการดูภาพยนตร์ผ่านแอปพลิเคชันดูหนังออนไลน์ต่าง ๆ แทนการออกไปโรงภาพยนตร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ปริมาณการค้นหา สำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้ลดลงจากช่วงล็อกดาวน์เช่นกัน ซึ่งเหตุผลน่าจะมาจาก การค้นหาส่วนใหญ่ เป็นแบบ one-time search กล่าวคือ หลังจากการค้นหาในครั้งแรก ๆ แล้ว ผู้ใช้อาจใช้งานจากแพลตฟอร์มโดยตรง ในครั้งถัดไป

shopping online ๒๐๐๙๒๖

จากข้อมูลของแพลตฟอร์มออนไลน์พบว่า แม้ปริมาณการค้นหาบน Google จะลดน้อยลง แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นจริง บนแพลตฟอร์ม
ยังมีการเติบโตที่ค่อนข้างสูง เช่น ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 จำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม ลาซาด้า ประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

อีไอซี มองว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ภายในประเทศผ่อนคลาย หลายกิจกรรมที่ได้รับความนิยม ในช่วงการล็อกดาวน์อาจกลายเป็น New normal บางพฤติกรรมของทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจอาจไม่ได้กลับไปเหมือนเดิมก่อนช่วง โควิด-19 เช่น หลายบริษัทในเมือง ปรับการทำงานเป็นการทำงานทางไกล (remote work) มีการทำงานที่บ้านมากขึ้น

แนวโน้มดังกล่าว ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการใช้ชีวิตในหลายด้าน ของคนจำนวนไม่น้อย ทั้งการใช้เวลา การใช้พื้นที่ และรูปแบบการใช้จ่าย พฤติกรรมการค้นหาบน Google ล่าสุดเป็นตัวสะท้อนได้ดีถึงแนวโน้มดังกล่าว โดยได้บ่งชี้ว่าพฤติกรรมหลายอย่างที่ฮิตในช่วงล็อกดาวน์ยังคงสูงกว่าในอดีตช่วงก่อนโควิด-19

สำหรับพฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เร่งตัวสูงจากความจำเป็นในช่วง โควิด-19 นั้น อีไอซี มองว่า เป็นตัวเร่งการปรับตัวระยะยาวที่สำคัญ ของทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค โดยเฉพาะหากบริการออนไลน์นั้น สามารถเข้ามาทดแทนรูปแบบการใช้จ่ายเดิม ๆ ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า ให้บริการที่ดีกว่าและเร็วกว่าได้

การขยายตัวของออนไลน์แพลตฟอร์ม จึงมีแนวโน้มส่งผลกระทบถึงธุรกิจเดิมในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น การขยายตัวของ อีคอมเมิร์ซ ที่กระทบต่อยอดขายค้าปลีกช่องทางออฟไลน์, แพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ ที่อาจแย่งกลุ่มลูกค้ากับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำนักงาน หรือพื้นที่ให้เช่าสำหรับการจัดประชุม-สัมมนา เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงมีนัยต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ โดยหากธุรกิจไม่ปรับตัวไปกับ New normal นอกจากจะต้องเผชิญกับ ผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว ยังอาจต้องเผชิญกับ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo