Finance

เปิดโผหุ้นน่าซื้อก่อนเลือกตั้งส.ส.

ภาพรวมความชัดเจนของปัจจัยทางการเมืองเริ่มเด่นชัด โดยเฉพาะกรอบการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.อย่างชัดเจน หลังจากมีพระราชโองการโปรดเกล้าให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.และ ส.ส. ลงในราชกิจจานุเบกษา

พ.ร.ป. ส.ว.จะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไปหลังลงประกาศ ส่วน พ.ร.ป. ส.ส. ให้มีผลบังคับใช้หลังลงประกาศในราชกิจจาฯไปแล้ว 90 วัน และจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งมีการประเมินกันว่าอย่างเร็วสุดน่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์  2562 หรือช้าสุด เดือนพฤษภาคม 2562 และเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง

เมื่อสำรวจข้อมูลจากคำแนะนำการลงทุนของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ พบว่า ได้มีการแนะนำให้ซื้อ ลงทุนในหุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยธีมการลงทุนหลังจากนี้ไป จะเน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เช่น ในกลุ่มอุปโภคบริโภค ธนาคารพาณิชย์  รับเหมาก่อสร้าง สื่อโฆษณา อสังหาริมทรัพย์

สำหรับโบรกเกอร์ที่สำรวจ รวมถึง บล.ฟินันเซียไซรัส บล.ทรีนีตี้ บล.กรุงศรี บล.พัฒนสิน บล.ทิสโก้ และบล.เอเซียพลัส โดยมีรายละเอียดดังนี้

บล.ฟินันเซียไซรัส

กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง จากข้อมูลทางสถิติ พบว่าหุ้นมักปรับตัวขึ้นก่อนเลือกตั้ง 4-6 เดือน และกระจายตัวไปเกือบทั้งตลาดเพราะทำให้เกิดความเชื่อมั่นด้านการบริโภคและการลงทุนตามมา

กลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ก่อนคือ สื่อโฆษณา รับเหมาและวัสดุก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรม และธนาคารพาณิชย์  ซึ่งหุ้นพื้นฐานดี เช่น AMATA CK CPALL KBANK MTC PLANB SCC  และ SEAFCO

ขณะที่กลุ่มธนาคาร ได้ประโยชน์จากการเติบโตของสินเชื่อที่จะเร่งขึ้นทั้งก่อน และหลังเลือกตั้ง โดยสถิติ 4 ครั้งล่าสุด พบว่าสินเชื่อจะขยับขึ้นก่อนเลือกตั้งเฉลี่ย 2% ต่อไตรมาส และเดือนที่มีการเลือกตั้งจะเพิ่มเฉลี่ย 2.5%

ส่วนหลังเลือกตั้งไปแล้ว ถ้าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จะขึ้นเฉลี่ย 4% ต่อไตรมาส ซึ่งเมื่อรวมกับภาวะปกติที่สินเชื่อจะโตตามฤดูกาลอยู่แล้ว คาดว่า ไตรมาส 4/61 เติบโตได้ราว 4-5% และเป็นไปได้สูงที่ทั้งปีจะโต 7-8% จากงวดเดียวกันปีก่อน

นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะได้เห็นแรงส่งต่อเนื่องไปถึงครึ่งแรกของปี 2562 โดยมีแนวโน้มปรับเพิ่มประมาณการสินเชื่อปี 2562 ขึ้นมา จากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.2% จากงวดเดียวกันปีก่อน และกลุ่มแบงก์น่าจะถูกปรับมูลค่า(Re-rated Valuation)ขึ้น เพราะเป็นกลุ่มแรกที่ได้ประโยชน์จากวงจรการลงทุนรอบใหญ่ที่กำลังจะมา แนะนำ KBANK และ BBL

stock

บล.เอเซียพลัส

จากสถิติในช่วง 6 เดือนก่อนมีการเลือกตั้ง (6 ครั้งหลังสุด) ชี้ให้เห็นว่าดัชนีหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 0.84% เท่านั้น (ให้ผลตอบแทนเป็นบวก 4 ใน 6 ครั้ง) อีกทั้งเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในระดับที่ไม่สูงมาก โดยมียอดซื้อสุทธิเฉลี่ยเพียง 2.6 พันล้านบาทต่อครั้ง ในช่วง 6 เดือนก่อนเลือกตั้ง (เป็นการซื้อสุทธิ 2 ใน 6 ครั้ง)

จากผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณเชื่อว่า ตลาดฯ คาดหวังประเด็นเลือกตั้ง รวมถึงโอกาสที่กระแสเงินทุนจะกลับเข้ามาหนุนมากเกินไป

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่พรรคการเมืองยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ที่เป็นการหาเสียงในการเลือกตั้งได้ จนถึงหลังวันที่ 11 ธันวาคม 2561  (ทิ้งช่วง 90 วัน) ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ บวกกับปัจจุบันมีหุ้นขนาดใหญ่หลายบริษัทปรับตัวขึ้นแรงจนมีการปรับตัวขึ้น(Upside) จำกัด จึงควรระวังแรงขายทำกำไรออกมา

ช่วงเวลาแบบนี้นักลงทุนจำเป็นต้องพิถีพิถันในการเลือกหุ้น (Selective Buy) โดยฝ่ายวิจัยฯแนะนำกลยุทธ์การลงทุน โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

  • หุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง ราคายังปรับขึ้นไม่มาก( Laggard) คือ BANPU, CENTEL, BGRIM, LPNและ TFG
  • หุ้นรับเหมาฯ และวัสดุก่อสร้าง ตอบรับ Sentiment เลือกตั้ง คือ CK, SEAFCO, SCC และ SCCC
  • หุ้นอุปโภคบริโภคเกาะกระแสการเมืองในประเทศ คือ ADVANC, BJC  และแนะนำเก็งกำไร CPALL รวมถึงสื่อโฆษณา

บล.ทรีนีตี้

จากการศึกษานับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2535 พบว่าตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวขึ้น ในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งจริง

แต่หากเจาะลึกลงไป จะพบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวดัชนีกลับปรับตัวต่ำกว่าตลาดหุ้นเอเชียอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนว่าการปรับตัวขึ้นมานั้น เป็นเพียงเพราะปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นการเลือกตั้งสักเท่าไหร่ จะมีก็แต่ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้าการเลือกตั้งไปจนถึง 1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้ง ที่มักเป็นช่วงเวลาที่ดัชนีปรับตัวแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นเอเชียอย่างมีนัยสำคัญ

ด้วยเหตุนี้จึงสรุปว่า การปรับตัวของดัชนีหุ้น ไม่ได้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเป็นระยะเวลานาน แต่จะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดก็คือในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้า ไปจนถึงช่วง 1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้ง  ดังนั้นจึงประเมินว่าการจะมีมุมมองที่ดี(Bullish) ต่อตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่วันนี้เพียงเพราะปัจจัยดังกล่าว อาจเป็นกลยุทธ์ที่ยังไม่เหมาะสมนัก

อย่างไรก็ดี หากจะประเมินหา Winner จากปัจจัยดังกล่าวตั้งแต่วันนี้ มองเช่นเดิมว่าเป็น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (IE) คล้ายๆ กับช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ภายหลังจากรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารเหมือนกัน  โดยในช่วงนั้น หุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวดีกว่าตลาดเกือบ 20% ตลอดระยะเวลา 1  ปีก่อนหน้าการเลือกตั้ง

stock1

ส่วนในเชิงพื้นฐานนั้น ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาการลงทุนโดยตรง (FDI) ในไทยที่ชะลอไปนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่นักลงทุนต่างชาติบางส่วนไม่มั่นใจต่อภาวะการเมืองของไทย ซึ่งหากมีความชัดเจนในเรื่องของการเลือกตั้งมากขึ้นคาดว่าปริมาณ FDI จะเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นตามลำดับ ประจวบเหมาะกับการที่ไทยกำลังจะพัฒนาโครงการ EEC ให้เป็น Flagship สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงถัดไปพอดี จึงอาจทำให้โครงการดังกล่าวมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ในระดับสูง

ส่วนกลยุทธ์การลงทุน แนะนำนักลงทุนที่เข้าสะสมหุ้นไปที่บริเวณแนวรับของทั้ง 2 แนวที่ดัชนี 1,700 จุดและ 1,670 จุด ถือครองหุ้นเพื่อให้กำไรเพิ่มขึ้น( Let profit run) ต่อไปได้

แต่หากดัชนีปรับตัวขึ้นไปที่บริเวณแนวต้านแรกของเดือนนี้ที่ 1,740 จุด มองเป็นจุดแบ่งขายทำกำไรที่น่าสนใจ เนื่องจากยังไม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในเชิงของ Valuation และมองปรากฏการณ์ปรับตัวขึ้นแรง( Election rally )จะยังไม่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงนี้

ทั้งนี้ มองกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจตามแต่ลักษณะพอร์ตการลงทุนดังต่อไปนี้

  • พอร์ตระยะสั้นประเภทเก็งกำไร แนะนำกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการ EEC ได้แก่ AMATA, WHA ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์ จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
  • พอร์ตระยะกลางที่ต้องการผลตอบแทนด้าน Capital gain แนะนำหุ้นที่ถูกลดน้ำหนักจาก MSCI ในรอบล่าสุด ได้แก่ CPALL, PTT รวมถึงหุ้นพื้นฐานดีในดัชนี SETHD ที่ยังคง Laggard ตลาดอยู่ เช่น TISCO, MAJOR, LH, LPN, SCC, BBL
  • พอร์ตระยะยาวที่ต้องการเงินปันผล แนะนำหุ้น Income Stock ที่มีลักษณะคล้าย Bond เช่น กองทุนอินฟราฟันด์ กองทุนอสังหา,กอง โดยกรอบของดัชนีแนวรับ  1,698  แนวต้าน 1,743

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight