General

เคลียร์ชัด! บัตรทอง ‘ห้ามเก็บค่าใช้จ่าย’ ผู้ป่วยขอประวัติรักษา ‘ย้ายสิทธิ’

บัตรทอง ห้ามเก็บค่าใช้จ่าย ผู้ป่วยขอประวัติรักษา กรณีย้ายสิทธิรักษาพยาบาล จากคลินิก โรงพยาบาล ที่ถูกบอกเลิกสัญญา สบส. ย้ำ ต้องอำนวยความสะดวกประชาชน

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรณีผู้ป่วยใช้สิทธิ บัตรทอง ห้ามเก็บค่าใช้จ่าย หากผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ต้องการประวัติการรักษาพยาบาล จากคลินิก โรงพยาบาล ที่ถูกบอกเลิกสัญญา

บัตรทอง ห้ามเก็บค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ ตามที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการยกเลิกสัญญาให้บริการ คลินิกชุมชนอบอุ่น กับสถานพยาบาลจำนวน 64 แห่ง ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ต้องย้ายสิทธิการรักษา ไปยังสถานพยาบาลแห่งใหม่

ขณะที่ การย้ายสิทธิรักษาพยาบาล จะต้องใช้เอกสารสำคัญ อย่าง ประวัติการรักษา จากสถานพยาบาลเดิม เพื่อให้การรักษาพยาบาล เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่า มีการโพสต์ข้อความ ผ่านสื่อโซเชียลว่า สถานพยาบาล ที่ถูกยกเลิกสัญญาฯ บางแห่ง มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ในการขอประวัติการรักษาของผู้ป่วย

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงมอบหมายให้ พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย ของกรมฯ ประสานไปยัง สถานพยาบาล ที่ถูกกล่าวอ้าง ซึ่งหลังจากการพูดคุย ปรับความเข้าใจ กับสถานพยาบาล ก็ได้มีการติดต่อคืนเงิน ให้กับผู้ป่วย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า ตามกฎหมายสถานพยาบาล ตามสิทธิผู้ป่วย กำหนดให้ สถานพยาบาล จะต้องอำนวยความสะดวก ให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลของตน เมื่อผู้ป่วยต้องการขอรับประวัติการรักษาของตน สถานพยาบาล จะต้องสำเนาเอกสาร ให้กับผู้ป่วย โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น

บัตรทอง ห้ามเก็บค่าใช้จ่าย
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

พร้อมกันนี้ สบส. ได้ประสานกับโรงพยาบาล และคลินิก ที่ถูก ยกเลิกสัญญาฯ ซึ่งทุกแห่ง พร้อมให้ความร่วมมือ ในการไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย ในการจัดทำสำเนาประวัติ ของผู้ป่วย และจะอำนวยความสะดวก ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึง ประวัติการรักษา ด้วยความรวดเร็ว และเหมาะสม

ขณะเดียวกัน สปสช. ได้มีการแจ้งเวียน ไปยังประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ จากสถานพยาบาลทั้ง 64 แห่ง ว่า สามารถขอรับบริการ ที่หน่วยบริการใหม่ได้ทันที โดยไม่ต้องไปขอประวัติการรักษา จากสถานพยาบาลเดิม

สำหรับหน่วยบริการใหม่ สามารถเรียกดู ประวัติการรักษา จากฐานข้อมูลของ สปสช. และรับการรักษาต่อได้ แต่หากประชาชนพบว่า สถานพยาบาลใด ปฏิเสธที่จะให้ประวัติการรักษา สามารถแจ้งสายด่วน กรม สบส. 1426 เพื่อดำเนินการต่อไป

ด้านนายแพทย์ ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า  แม้ทั้ง 64 คลินิกและ โรงพยาบาลเอกชน ที่ถูกยกเลิกสัญญา จะมีประชากรในการดูแลกว่า 8 แสนราย ทำให้ต้องหาหน่วยบริการประจำใหม่ แก่ประชาชนกลุ่มนี้ แต่ขอย้ำว่า

  • สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ของประชาชน ทั้ง 8 แสนราย ยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ถูกยกเลิกตามหน่วยบริการทั้ง 64 แห่งไปด้วย
  • สิทธิของคนกลุ่มนี้ จะกลายเป็นสิทธิว่าง หมายถึงเป็น ผู้ใช้สิทธิ ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนกับหน่วยบริการประจำ และสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการไหนก็ได้

กรณีนี้ สปสช. ได้ประสานกับ กทม. กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชน เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถเข้ารับบริการ ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ตลอดจนโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการกับ สปสช. โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางกลับไปขอเวชระเบียนจากคลินิกเดิม เพราะหน่วยบริการให ม่สามารถดึงประวัติการรักษา จากฐานข้อมูลของ สปสช.ได้

  • แม้ตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจะสูงถึง 8 แสนคน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ประชาชนที่เจ็บป่วย จำเป็นต้องเข้ารับบริการในช่วงนี้ มีประมาณ 27% ซึ่งสามารถพกบัตรประชาชนใบเดียว ไปรับบริการที่หน่วยบริการไหนก็ได้ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่สุขภาพยังแข็งแรงดี ไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปสำนักงานเขต หรือไปที่หน่วยบริการ เพื่อขอย้ายหน่วยบริการประจำในช่วงนี้  สปสช. จะทำการจัดหาหน่วยบริการประจำให้โดยเร็วที่สุด และจะแจ้งให้ทราบผ่านช่องทางต่างๆ ต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo