Business

รฟม. แจงประมูล ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ โปร่งใส มีกฎหมายรองรับปรับ TOR

 รฟม. แจงประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.4 แสนล้านโปร่งใส ไม่เอื้อเอกชนรายใด มั่นใจ! ปรับ TOR เหมาะสมกับโครงการขนาดใหญ่ ก่อสร้างซับซ้อน มีกฎหมายร่วมทุนรองรับ

วันนี้ (25 ก.ย. 63) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งมีการพิจารณาปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุน (PPP) ให้เป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา ดังนี้

รฟม. รถไฟฟ้าสายสีส้ม

1.รฟม. ได้มีประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 โดยมีกำหนดยื่นซองเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนในวันที่ 23 กันยายน 2563

ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบข้อชี้แจงต่อข้อสอบถามของผู้ซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP Clarification) และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) รวมถึงเห็นชอบการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอ

จากรูปแบบเดิมที่การประเมินข้อเสนอจะพิจารณาซองเทคนิค และซองการลงทุนและผลตอบแทน แยกจากกัน โดยให้พิจารณาซองการลงทุนและผลตอบแทนเฉพาะผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ผ่านการประเมินซองเทคนิคเท่านั้น เป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา พร้อมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการยื่นข้อเสนอของเอกชนออกไป 45 วัน เป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

ในการนี้ รฟม. ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 นำส่ง RFP Addendum ให้แก่เอกชนทุกรายทราบแล้ว

2. คณะกรรมการฯ และ รฟม. ได้พิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบแล้วว่า การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ เนื่องจากโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการฯ ส่วนตะวันตก ซึ่งจะต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างที่มีความซับซ้อน เนื่องจากเป็นการดำเนินงานก่อสร้างใต้ดินทั้งหมด ประกอบกับแนวเส้นทางที่พาดผ่านเข้าในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่อ่อนไหวหลายแห่งโดยเฉพาะกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ต้องก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการเดินรถไฟฟ้าที่ต้องการมาตรฐานความปลอดภัยชั้นสูง

ดังนั้น ผลประโยชน์ที่รัฐและประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับจึงขึ้นกับคุณภาพ เทคนิค และประสิทธิภาพในการดำเนินงานของเอกชนเป็นสำคัญ มิได้มีเพียงแต่ผลประโยชน์ทางการเงินเท่านั้น

รฟม. รถไฟฟ้าสายสีส้ม

3. การดำเนินการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ในครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 35 และมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งการออก RFP Addendum เป็นไปตามที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ข้อ 17.1 ซึ่งได้ระบุว่า

“ก่อนถึงกำหนดวันยื่นซองเอกสารข้อเสนอ รฟม. อาจมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (ที่ระบุในข้อ 15.) โดยการออกเอกสารแนบท้ายเพิ่มเติม โดยเหตุผลสำหรับการปรับเปลี่ยนนั้น อาจมาจากการพิจารณาของ รฟม. เอง หรือเป็นผลสืบเนื่องมาจากการชี้แจงข้อซักถามของผู้ยื่นข้อเสนอก็ได้”

สอดคล้องตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 ข้อ 4 (8) และ 4 (9) และเป็นการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563

4. การปรับปรุงเอกสาร RFP ครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงเฉพาะวิธีการประเมินข้อเสนอเท่านั้น ไม่ได้เป็นการปรับปรุงเนื้อหาข้อเสนออื่นใดในเอกสาร RFP ดังนั้นการดำเนินการดังกล่าวจึงมิได้ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายใด

นอกจากนี้ รฟม. ได้ขยายระยะเวลาการยื่นข้อเสนอของเอกชนออกไปอีก 45 วัน นับเป็นระยะเวลาในการจัดทำข้อเสนอการร่วมลงทุนของเอกชนประมาณ 70 วัน เพื่อให้ผู้ซื้อเอกสาร RFP ทุกรายได้มีเวลาเพิ่มเติมในการศึกษาเอกสาร RFP ซึ่งรวมถึงวิธีการประเมินข้อเสนอที่ได้ปรับปรุงในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ การกำหนดวิธีการประเมินข้อเสนอในลักษณะดังกล่าวมีความเหมาะสมกับคุณลักษณะโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีความซับซ้อนในการดำเนินการมาก ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 83 (2) ประกอบมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ระบุว่า การจ้างออกแบบรวมก่อสร้างที่มีความซับซ้อน มีเทคโนโลยีสูง หรือมีเทคนิคเฉพาะ สามารถใช้เกณฑ์ราคาประกอบเกณฑ์อื่นได้

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ

ทั้งนี้ รฟม. ขอเรียนยืนยันว่า การดำเนินการข้างต้นมีความโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถทำให้โครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ เป็นไปตามมาตรฐานของ รฟม. เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้บริการและภาครัฐ โดยไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่เอกชนผู้ซื้อเอกสาร RFP รายใด

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ รฟม. ยังคงเดินหน้าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มต่อไป โดยจะเปิดรับข้อเสนอของเอกชนในวันที่ 9 พฤศจิกายน  2563 และทราบผลการประมูลในเดือนมกราคม 2564

สำหรับโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

รถไฟฟ้าสายสีส้ม BTS

“BTS” ยื่นศาลคุ้มครองประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ให้ปรับ TOR รถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้วยการนำคะแนนเทคนิค มาถ่วงน้ำหนักกับคะแนนราคาและผลตอบแทนด้วยนั้น ส่งผลให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เห็นว่าเกิดความไม่เป็นธรรม เพราะเมื่อผ่านขั้นตอนการซื้อซองแล้ว ก็จะทำให้ทราบว่ามีเอกชนรายใดสนในเข้ายื่นซองบ้าง

BTS จึงเดินสายยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.), รฟม. และ องค์กรค้านคอร์รัปชัน รวมถึงยื่นเรื่องถึง ศาลปกครอง ด้วยเพื่อขอคุ้มครองการประมูล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo