COLUMNISTS

การปรับตัวในช่วงโลกป่วน

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
643

ความเชื่อที่นำทางความคิด รัฐ องค์กร และคน ในปัจจุบันคือ ต้องเร่งปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลของโลก หากใครตกขบวน หาไม่แล้วจะถูกเขี่ยลงจากเวที ความเชื่อนี้เข้มข้นมากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างที่รับรู้กัน ทุกวันนี้ มีสิ่งแปลกใหม่เกิดขึ้นแทบจะทุกวัน และเริ่มส่งผลต่อ วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมมากขึ้นๆ  “แพลทฟอร์มโลกกำลังจะเปลี่ยน”  คือคำที่ใช้อธิบายสถานการณ์ที่กำลังเป็นไปในวันนี้

ตัวอย่างการสื่อสารผ่านเครือข่ายที่ทำให้โลกแคบลง คนกลางกำลังสูญเสียบทบาท อุบัติธุรกิจรูปแบบใหม่เขย่าขวัญกิจการแบบเดิม เช่นแกร็บ สร้างความมั่งคั่งจากการบริหารจัดการบิ๊กดาต้า โดยไม่ต้องลงทุนหรือถือครองทรัพย์สินเหมือนธุรกิจรูปแบบเดิม

executive 2051412 960 720

คำว่า ดิสรัปชัน ถูกใช้จำกัดความของปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งถูกอธิบายรวมความว่าหมายถึง โลกป่วน ซึ่งดูเหมาะสมดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งสับสน อลหม่าน จากการเคลื่อนไหว หรือ ดิ้นรน เพื่อหาทาง แนวทางปรับตัว หรือ กำลังปรับตัว ของภาคส่วนต่างๆ หมายถึงทั้ง ภาครัฐและเอกชนให้เข้าสู่แพลทฟอร์มใหม่ของโลก

ภาคธุรกิจเริ่ม ขยับตัว มากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น อุตสาหกรรมแบงก์เร่งลงทุนเพื่อชิงเป็นผู้นำ ดิจิทัลแบงก์กิ้ง กลุ่มธุรกิจธุรกิจขนาดใหญ่เร่งลงทุนและจับคู่พันธมิตรต่างชาติ เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานด้าน อีคอมเมิร์ซ  พร้อมกับการขยับเข้าสู่โลจิสติกส์ ธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการค้ายุคไอที เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคกำลังเปลี่ยน หันมานิยมสั่งซื้อออนไลน์มากขึ้น อนาคตสินค้าที่ส่งถึงบ้านจะมีขนาดใหญ่ และหนักขึ้น เช่น วัสดุก่อสร้าง

ในวงการศึกษา ซึ่งเปรียบเหมือนต้นทางที่ผลิตคนเข้าสู่ระบบก็เช่นกัน คุณครูในฐานะแม่พิมพ์ ทั้งหลายถูกเรียกร้องให้ “ปรับตัว” เช่นเดียวกับภาคส่วนอื่น

สัปดาห์ที่แล้ว หมอ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยฯ กระทรวงศึกษา ไปพูดบนเวที  “แนวทางการศึกษาสู่การพัฒนาในอนาคต”  บอกตอนหนึ่งว่า ครูบาอาจารย์ต้องปรับกระบวนการคิด จะสอนหลักสูตรแบบเดิม การเรียนการสอนไม่ตอบโจทย์

หมออุดมชี้ว่าอนาคต ความรู้ไม่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างทักษะ สมรรถนะในตัวเด็กให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ตัวเอง พร้อมยกตัวอย่างว่า หลายบริษัทเริ่มรับคนเข้าทำงาน โดยไม่ได้พิจารณาจากปริญญาบัตรเหมือนเดิม

ในมุมมองของ รัฐมนตรีช่วยศึกษา เชื่อว่า ครูต้องเปลี่ยนเป็นโค้ช ทำหน้าที่กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ จึงจะสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในวันนี้

คุณหมอฟันธงว่า หากคุณครูไม่ปรับ ลูกศิษย์ที่ผลิตออกไปจะตกงาน เพราะหลายอุตสาหกรรมเริ่มทดแทนแรงงานด้วยหุ่นยนต์เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ หรือทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมกับยกข้อมูลชวนตกใจของ ธนาคารโลก ที่ออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2573 เด็กไทยที่เรียนจบ 72 % จะตกงาน เพราะถูกปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์แย่งงาน

มุมมองเรื่องหุ่นยนต์ไม่ใช่ของใหม่ การมาของแรงงานหุ่นยนต์ถูกกล่าวถึงมาระยะหนึ่งแล้ว และไม่ได้จำกัดเฉพาะ อุตสาหกรรมยานยนต์ แต่จะขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆอีกด้วย

ผลที่คาดว่าจะเกิดจากแรงงานหุ่นยนต์ และตลาดที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ดิจิทัล อีโคโนมี คือ 2 ปัจจัย ที่เป็นฐานในการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่า แรงงานในระบบมีโอกาสสูญตำแหน่งของตัวเองให้กับการเปลี่ยนแปลง

ความต้องการแรงงานที่มีทักษะใหม่ของตลาด ยังส่งผลต่อภาคการศึกษาโดยตรง ไม่เพียงแต่บทบาทของครูที่ต้องเปลี่ยนไปเช่นที่กล่าวข้างต้น หลายสาขาวิชา อาทิ นิเทศศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ตกชั้นสาขาวิชายอดนิยมไปแล้ว

พร้อมกับคำถามที่ตามมาว่า หลักคิด ทฤษฎี หลายสาขาวิชาที่เรียนๆ กันมา ยังจะใช้อธิบายความเป็นไปในยุคนี้ได้อีกหรือไม่ 

สถานการณ์ปัจจุบันคือ ช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งยากจะคาดเดาว่าใช้เวลานานเท่าไหร่ และเมื่อสิ้นสุดกระบวนการนี้แล้ว สภาวะจะหนักหน่วงกว่าที่คาดการณ์กันไว้ หรือไม่ได้เลวร้ายอย่างที่กังวลกัน

ความเชื่อที่ว่าช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น มีทั้งทำลาย และ สร้างสรรค์ ไปพร้อมๆกัน ได้รับความยอมรับไม่น้อย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าโฉมหน้าอนาคตจะออกมาอย่างไร แต่การนิ่งเฉยเท่ากับยอมจำนน