Videos

10 มหาเศรษฐีพันล้านอุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม

นิตยสารฟอร์บส์ จัดอันดับมหาเศรษฐีพันล้านประจำปี 2561 พร้อมทั้งแยกให้เห็นเป็นรายภาคอุตสาหกรรมว่า มหาเศรษฐีพันล้านรายใด ที่มีฐานะร่ำรวยมากสุดในอุตสาหกรรมนั้นๆ

The Bangkok Insight ได้คัดเลือกอุตสาหกรรมที่น่าสนใจจำนวนหนึ่งมาให้ดูกัน โดยในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า มหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ใน 10 อันดับแรกของอุตสาหกรรมนี้ เกือบทั้งหมดร่ำรวยขึ้นมาจากธุรกิจเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ฮอร์เก เปาโล เลแมนน์

วาณิชธนกร ที่กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นข้างมากในแอนฮอยเซอร์ บุช อินเบฟ ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่สุดของโลก โดยเลแมนน์ และหุ้นส่วนของเขา ยังเป็นผู้ถือหุ้นในเรสโตรองท์ แบรนด์ส อินเตอร์เนชันแนล บริษัทแม่ของเบอร์เกอร์ คิง และเชนร้านกาแฟสัญชาติแคนาดา ทิม ฮอร์ตันส์

เมื่อปี 2556 บริษัทการลงทุนส่วนบุคคล “3จี แคปิตอล” ของเลแมนน์ และเบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เข้าซื้อกิจการเอช.เจ.ไฮนซ์ แอนด์ คัมปานี ก่อนที่ไฮนซ์ จะควบกิจการกับคราฟท์

แจคเกอลีน มาร์ส

เจ้าของหุ้น 1 ใน 3 ของมาร์ส ผู้ผลิตขนมหวานรายใหญ่สุดของโลก โดยเธอทำงานกับบริษัทมานานเกือบ 20 ปี และเป็นกรรมการบริหารบริษัทจนถึงปี 2559

จอห์น มาร์ส

จอห์น และพี่น้องของเขา คือ แจคเกอลีน และฟอร์เรสต์ จูเนียร์ (เสียชีวิต) รับมรดกเป็นหุ้นในบริษัทมาร์ส อิงค์ หลังจากที่บิดาของพวกเขาเสียชีวิตเมื่อปี 2542

เขากับแจคเกอลีน ถือหุ้นบริษัทคนละ 1 ใน 3 และปัจจุบันเริ่มปล่อยให้ลูกๆ เข้ามาบริหารงานแทน  นอกจากขนมหวานแล้ว บริษัทในเครือของมาร์ส ยังรวมถึง บริษัทผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบรนด์ เพดิกรี และวิสกัส

จีโอวานนี เฟอร์เรโร

บุตรชายของไมเคิล เฟอร์เรโร ผู้ที่นำนามสกุลของครอบครัว ไปตั้งเป็นชื่อธุรกิจขนม ที่กลายมาเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลกในปัจจุบัน  โดยจีโอวานนีอยู่ในตำแหน่งซีอีโอร่วมกับ ปิเอโตร พี่ชาย ที่เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายเมื่อปี 2554

ในปี 2560 เขาลงจากตำแหน่งซีอีโอ แต่ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารอยู่ โดยมุ่งดูแลในเรื่องกลยุทธ์ของบริษัท

เมื่อเดือนมกราคม 2561 เฟอร์เรโรได้บรรลุข้อตกลงกับเนสท์เล่ ขายธุรกิจขนมทั้งหมดของบริษัทในสหรัฐ มูลค่า 2,800 ล้านดอลลาร์

ดีทริซ แมเทสชิตซ์

เขาตัดสินใจเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มให้พลังงาน ด้วยการร่วมมือกับเฉลียว อยู่วิทยา นักธุรกิจไทย (เสียชีวิต ปี 2555)ก่อตั้งบริษัทผลิตเครื่องดื่มให้พลังงาน เรด บูลล์ ในปี 2530 หลังจากที่ได้ทดลองดื่มกระทิงแดง

หุ้นส่วนทั้ง 2 รายสร้างเรด บูลส์ขึ้นมา และรุกลงทุนด้านการตลาด เพื่อให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ โดยในปี 2560 เรดบูลส์ทำยอดขายได้มากกว่า 6,300 ล้านกระป๋องทั่วโลก

เจริญ สิริวัฒนภักดี

เจ้าของกลุ่มธุรกิจ ไทย เบฟเวอเรจ บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่สุดของไทย ที่รู้จักกันในชื่อเบียร์ช้าง โดยสินทรัพย์อื่นๆ ของเขา รวมถึง บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ทีซีซี แลนด์ และยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องดื่ม-อสังหาริมทรัพย์สัญชาติสิงคโปร์ เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ

อาณาจักรค้าปลีกของเจริญ รวมถึง บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต เชนไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่บริษัทของเขาทุ่มเงินมากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ ซื้อกิจการมาเมื่อปี 2559
ในเดือนธันวาคม 2560 ไทยเบฟเข้าถือหุ้น 54% ในซาเบโก ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่สุดของเวียดนาม มูลค่า 4,800 ล้านดอลลาร์

ชาร์ลีน เดอ คาร์วัลโฮ ไฮเนเก้น

หนึ่งในผู้หญิงที่ได้ชื่อว่ามีฐานะร่ำรวยสุดของโลก จากการที่เธอถือหุ้นข้างมาก 23% ในไฮเนเก้น ซึ่งเธอได้รับมรดกมาเมื่อปี 2545 หลังจากที่เฟรดดี้ ไฮเนเก้น บิดาของเธอ และซีอีโอบริษัท เสียชีวิตลง

ไมเคิล สามีของเธอ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารบริษัทด้วย

เอ็มมานูเอล เบสเนียร์

ผู้ถือหุ้นข้างมากใน แลคตาลิส หนึ่งในบริษัทด้านผลิตภัณฑ์นมขนาดใหญ่สุดของโลก ด้วยยอดขายร่วม 20,000 ล้านดอลลาร์ ที่บิดาของเขาก่อตั้งขึ้นมาในปี 2476

ปัจจุบันแลคตาลิสมีพนักงานราว 75,000 คน และเป็นเจ้าของโรงงานผลิตมากกว่า 230 แห่ง ใน 43 ประเทศ

มาร์เซล เฮอร์มานน์ เทลเลส

หนึ่งในผู้ถือหุ้นแอนฮอยเซอร์ บุช อินเบฟ ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่สุดของโลก โดยเขากับหุ้นส่วนอีก 2 คน คือ คาร์ลอส อัลเบอร์โต ซิคูปีรา มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวบราซิล และ ฮอร์เก เปาโล เลแมนน์ เป็นเจ้าของบริษัทร่วมกันจำนวนหนึ่ง รวมถึง 3จี แคปิตอล บริษัทด้านการลงทุนชั้นนำของโลก

คาร์ลอส อัลเบอร์โต ซิคูปีรา

ความมั่งคั่งเกือบทั้งหมดของเขา มาจากการถือหุ้นราว 3% ในแอนฮอยเซอร์ บุช อินเบฟ ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่สุดของโลก

ในปี 2559 อินเบฟเสร็จสิ้นการเข้าควบกิจการซาบมิลเลอร์ มูลค่าเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์ ได้เป็นเจ้าของแบรนด์จำนวนหนึ่ง รวมถึง พิลส์เนอร์ เออร์เควลล์ และฟอสเตอร์ส เลเกอร์

ที่มา: Forbes

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight