Politics

แจงด่วน! กกต. ยุติตรวจสอบเงินกู้ยืม 32 พรรคการเมือง รอดถ้วนหน้า!

กกต. ยุติตรวจสอบเงินกู้ยืม 32 พรรคการเมือง กกต. แจงด่วน ไม่ผิด เพราะเป็นรายรับ และเป็นเงินทางการเมือง ไม่ใช่รายได้ ยอดกู้เกิน 10 ล้านบาท ถือเป็นหนี้เก่าสะสม

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกเอกสารข่าวเรื่อง “การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดรายการบัญชีที่เกี่ยวข้อง กับการกู้ยืมเงินของพรรคการเมือง” โดย กกต. ยุติตรวจสอบเงินกู้ยืม 32 พรรคการเมือง โดยระบุว่า

กกต. ยุติตรวจสอบเงินกู้ยืม

“ตามที่ปรากฏข่าว กรณี นายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ตรวจสอบ งบการเงินของพรรคการเมือง จำนวน 32 พรรคการเมือง ที่กู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคการเมืองแล้ว ไม่เป็นการฝ่าฝืน ต่อบทบัญญัติ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 62 ประกอบมาตรา 72 ซึ่งได้มีการแสดงความคิดเห็นทางสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวางในเรื่องดังกล่าว นั้น

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอเรียนว่า การแสดงความคิดเห็น ในเรื่องดังกล่าวข้างต้น ยังมีความคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย รวมทั้งการดำเนินงานของ นายทะเบียนพรรคการเมือง และ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ในการนี้ จึงขอให้ข้อมูลการตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับรายละเอียด รายการบัญชี ที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงิน ของพรรคการเมือง จำนวน 32 พรรคการเมือง ดังนี้

1. การกู้ยืมเงินของพรรคการเมือง

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วางแนวทางเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ของพรรคการเมือง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2563 ดังนี้

1.1 สถานะของเงินกู้ยืม เงินกู้ยืม มิใช่เป็นรายได้ของพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 62 แต่เป็นรายรับ และเป็นเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มา และการใช้จ่ายเงิน เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงกระทำได้ ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

1.2 รายรับถือเป็นประโยชน์อื่นใด ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง การให้กู้ยืมเงิน โดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ย ที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า หรือการทำให้หนี้ ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ ลดลง หรือเป็นการได้เงิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ไม่ต้องออกค่าใช้จ่าย ซึ่งโดยปกติต้องจ่าย ย่อมถือว่าเป็นประโยชน์อื่นใด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 4

และต้องอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคสอง และอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ในการบริจาค และการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 และมาตรา 72

1.3 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 66 กำหนดห้ามมิให้พรรคการเมือง รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี

นอกจากนี้ มาตรา 72 กำหนดให้การรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ไม่ว่าจะจำนวนเท่าใดก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น

newspic

2. ในการตรวจสอบงบการเงิน ของพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง

นับแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้ว พบว่า มีพรรคการเมือง จำนวน 3 พรรคการเมือง ที่มีงบการเงินประจำปี 2561 ปรากฏรายการกู้ยืมเงินเกินกว่า 10ล้านบาท ได้แก่ พรรคภูมิใจไทยมียอดเงินกู้ยืม จำนวน 30 ล้านบาท พรรคประชากรไทยมียอดเงินกู้ยืม จำนวน 12 ล้านบาท และพรรคเพื่อไทยมียอดเงินกู้ยืม จำนวน 13 ล้านบาท

เป็นกรณีที่พรรคการเมืองดังกล่าว กู้ยืมเงินมาตั้งแต่ปี 2555 และยังไม่มีการใช้เงินคืน ซึ่งเป็นยอดหนี้คงค้างไว้ ในงบการเงินประจำปี 2561 และในแต่ละปี เป็นยอดเงินกู้ยืมไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี จึงไม่เป็นการกระทำ ที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 62 ประกอบมาตรา 72

3. กรณีประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง

เรื่อง งบการเงินของพรรคการเมือง ประจำปี 2561 ซึ่งได้ลงประกาศในเว็บไซต์ของ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งไปแล้ว จำนวน 79 พรรคการเมือง รวม 609 หน้า ซึ่งในภายหลังได้ตรวจสอบพบว่า มีเอกสารบันทึกข้อความ เกี่ยวกับการรายงาน การรับบริจาคเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ลงประกาศไปด้วย

เอกสารดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับงบการเงิน ของพรรคการเมืองแต่อย่างใด จึงนำเอกสารบันทึกข้อความ เกี่ยวกับการรายงานการรับบริจาค ออกจากเว็บไซต์ ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้เอกสารงบการเงิน ของพรรคการเมือง เหลือจำนวน 608 หน้า ทั้งนี้ สามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

4. เอกสารงบการเงิน ของพรรคการเมือง มีการสลับหน้ากัน

เนื่องจากในขั้นตอน การจัดทำไฟล์อิเล็กทรอนิกส์งบการเงิน ของพรรคการเมืองดังกล่าว เพื่อเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีเอกสารจำนวนมาก จึงต้องแยกเอกสารเป็น 13 ชุด เพื่อสแกนเอกสาร

โดยในขั้นตอนการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เกิดความคลาดเคลื่อน ไม่เป็นไปตามลำดับ ของชุดเอกสารดังกล่าว ทำให้ไฟล์เอกสารสลับหน้ากัน เป็นเหตุให้เอกสารงบการเงิน ของพรรคการเมือง จำนวน 9 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย (พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย) พรรคพลังประชาธิปไตย พรรคพลเมืองไทย (พรรคพลังพลเมืองไทย) พรรคไทยธรรม พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคพลังสังคม เรียงลำดับไม่ต่อเนื่องกัน

แต่เอกสารงบการเงินของพรรคการเมืองทั้ง 79 พรรค ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเผยแพร่ ยังมีข้อมูลถูกต้องครบถ้วน ตามที่พรรคการเมือง แต่ละพรรคได้จัดส่งมา ซึ่งงบการเงินของพรรคการเมือง ต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบ และรับรอง และต้องนำเข้าที่ประชุมใหญ่ ของพรรคการเมือง เพื่ออนุมัติ และหัวหน้าพรรคการเมืองต้องรับรองความถูกต้อง ร่วมกับเหรัญญิกพรรคการเมือง ก่อนจัดส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมือง

นอกจากนี้ ยังต้องสอดคล้องกับรายงานการประชุมใหญ่ ของพรรคการเมือง และระบบบัญชีของพรรคการเมือง จึงไม่มีผู้ใดจะไปแก้ไขงบการเงินของพรรคการเมือง ที่ส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ให้ผิดไปจากงบการเงิน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเห็นชอบได้

ทั้งนี้ เอกสารงบการเงิน ของพรรคการเมือง ที่มีการสลับหน้ากันดังกล่าวข้างต้น สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง จะได้ดำเนินการแก้ไขในส่วนที่คลาดเคลื่อน เกี่ยวกับลำดับเอกสาร ให้ถูกต้องต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

 

Avatar photo