Finance

มติเอกฉันท์! กนง.ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อปี

ที่ประชุม กนง. มีมติเอกฉันท์ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อปี พร้อมคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ  7.8% จากเดิมคาดติดลบ 8.1%

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี เนื่องจากมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ น่าจะหดตัวน้อยลง จากประมาณการเดิมเล็กน้อย โดยเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้ง มาตรการการเงิน และ สินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และ ลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

กนง.

ทั้งนี้ ที่ประชุม ยังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ เป็นติดลบ 7.8% จากเดิมคาดติดลบ 8.1% หลังจากเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2563 ชะลอตัวลงน้อยกว่าที่คาด ขณะที่การส่งออก คาดว่า จะติดลบ 8.2% และ นำเข้าติดลบ 13.7% เงินเฟ้อทั่วไปคาดติดลบ 0.9% และ เงินเฟ้อพื้นฐานคาดอยู่ที่ 0.3%

ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 มีแนวโน้มติดลบน้อยกว่าประมาณการเดิม จากราคาพลังงาน ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ ที่ขยายตัว หลังการผ่อนคลายมาตรการ ควบคุมการระบาดของ COVID-19 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่าง ของกรอบเป้าหมายในปี 2564 ทั้งนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ส่วนในปี 2564 ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ เหลือขยายตัว 3.6% จากเดิมคาดขยายตัว 5% เป็นผลจาก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เป็นสำคัญ รวมถึง ยังต้องระวังความเสี่ยง เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ขณะที่ การส่งออกคาดว่า จะขยายตัว 4.5% และ นำเข้าขยายตัว 4.4% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปคาดอยู่ที่ 1% และ เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2%

ทั้งนี้ คณะกรรมการ กนง. คาดว่า จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม จะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัว จะแตกต่างกันมาก ระหว่างภาคเศรษฐกิจ และ ผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม

“สาเหตุมองว่า เศรษฐกิจปีนี้ จะติดลบน้อยลง เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ที่ดีกว่าที่คาด ส่วนปีหน้า มองว่า จีดีพีจะเติบโตลดลง จากการท่องเที่ยวที่แย่กว่าคาด โดยคณะกรรมการคาดว่า จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีที่กิจกรรมจะกลับเข้ามาก่อนโควิด-19” นายทิตนันทิ์ กล่าว

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม มองว่า ค่าเงินบาท แม้อ่อนค่าลง จากการปรับครั้งก่อน และ เงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ คณะกรรมการเห็นว่า หากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็ว อาจส่งผลกระทบ ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งประเมินความจำเป็น ของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์ มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้า ต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่แน่นอน และ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ และ ครัวเรือนที่ลดลง

คณะกรรมการฯ เห็นว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงิน เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ของลูกหนี้รายย่อย และ ธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้าง  และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุด และทันการณ์ สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ

“หากมองไปข้างหน้า มาตรการภาครัฐจำเป็นต้องตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น โดยจะต้องเร่งสนับสนุนการจ้างงาน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ละภาคส่วนต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องกัน ทั้งมาตรการด้านการคลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง” นายทิตนันทิ์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo