Business

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จี้รัฐ ‘แก้ไขมาตรา 32’ ห้ามโฆษณา วอนไฟเขียว ‘ขายออนไลน์’

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครวญกฏหมายล้าสมัย เปิดช่องเอื้อเจ้าหน้าที่ คนชี้เบาะแส จี้รัฐแก้ไขมาตรา 32 ห้ามโฆษณา และยกเลิกการห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ออนไลน์

นายธนากร คุปตจิตต์ นายก สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) เปิดเผยในงาน “เศรษฐกิจ – โควิด กับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ว่า พระราชบัญญัติควบคุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 มีความล้าสมัย เนื่องจากถูกบังคับใช้มากว่า 12 ปี ตั้งแต่ปี 2551 ทำให้ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไป

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ ยังมีช่องโหว่ จากกวามไม่ชัดเจนและคลุมเครือ โดยอาศัยการตีความ และดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่มีมาตรฐานชัดเจน  จึงเปิดช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติ อย่างไม่เป็นธรรม และยังคุกคามสิทธิเสรีภาพ ของประชาชน ในการสื่อสาร และการแสดงความคิดเห็น

ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นเรื่องค่าปรับ ที่กำหนดไว้สูงอย่างไม่สมเหตุสมผล ตั้งแต่ 50,000 – 500,000 บาท รวมถึงเรื่องสินบนรางวัล ที่เจ้าหน้าที่ และผู้แจ้งเบาะแส จะได้ส่วนแบ่ง พร้อมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ถึงร้อยละ 80 ของค่าปรับ ในขณะที่จะมีเงินเข้ากระทรวงการคลังเพียงร้อยละ 20 ของค่าปรับเท่านั้น ซึ่งสินบนรางวัล อาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่ชอบธรรมในกระบวนการยุติธรรมด้วย

สำหรับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือ เครื่องหมาย ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจ ให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”

จะเห็นได้ว่า มาตราดังกล่าว ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า การกระทำใด เป็นการชักจูงโดยตรง หรือโดยอ้อม ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง

 

เห็นได้จากกรณีของ นายวิเชียร อินทร์ไกรดี เจ้าของร้านอาหาร Kacha Kacha ที่โดนกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามมาตรา 32 ซึ่งถูกปรับรวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 500,000 บาท เพียงเพราะมีรูปแก้วเบียร์ อยู่ในเมนูของร้าน ทั้งที่ไม่มีตราสินค้าใด ๆ ปรากฏร่วมด้วย

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ด้านนางโยษิตา บุญเรือง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไวน์โอท็อป จากผลไม้ของเกษตรกรไทย ถูกตั้งข้อกล่าวหา ให้ชำระค่าปรับกว่า 1 ล้านบาท และยังเคยถูกควบคุมตัวในห้องขัง ร่วมกับผู้กระทำความผิดคดีร้ายแรงอื่น ๆ ในระหว่างสู้คดีในชั้นศาล หลังโดนเจ้าหน้าที่ล่อซื้อ และขอใบปลิวผลิตภัณฑ์ ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเท่านั้น

กรณีนี้ แม้จะได้รับการลดหย่อนโทษปรับเหลือ 50,000 บาท พร้อมรอลงอาญา 2 ปี ในภายหลัง แต่ความเดือดร้อนในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และต่อชุมชน ตลอดจนเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบ

อีกรายที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรม จากมาตรา 32 คือ นายคำนาย มาดำ เจ้าของร้านลาบลุงยาว ย่านปากเกร็ด ที่ถูกดำเนินคดีและถูกแนะนำให้ไปเปรียบเทียบปรับ 50,000 บาท เนื่องจากมีโปสเตอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดอยู่ในบริเวณร้าน ทั้งที่หลาย ๆ ร้านในละแวกใกล้เคียงก็มีป้ายลักษณะดังกล่าวติดอยู่เช่นกัน แต่มีเพียงร้านของนายคำนาย ที่ถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา จึงมองว่าอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ

นายธนากรกล่าวว่า มาตราดังกล่าว ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ที่อาจต้องปิดตัวลง เพราะไม่มีช่องทางในการทำธุรกิจ และการแข่งขันในตลาด ทำให้เกิดการผูกขาด เปิดช่องให้ผู้ประกอบการ ที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย สามารถใช้ประโยชน์ จากการปิดกิจการ ของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง

Thanakorn Kuptajit 1
ธนากร คุปตจิตต์

นอกจากนี้ ยังไม่สอดคล้องกับ พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และไม่สอดคล้องกับ นโยบายของภาครัฐ ที่ต้องการขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล และส่งเสริมการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ส่วนการอ้างเหตุ ในการออกประกาศ การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นการป้องกันเยาวชน จากการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ถือเป็นการแก้ปัญหาที่เกินจำเป็น และถือว่าไม่เป็นการควบคุม แต่มุ่งกำจัด

ทั้งนี้เพราะ การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์นั้น สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ซื้อ การทำธุรกรรมซื้อขาย ตลอดจนการจัดส่งสินค้าย้อนหลังได้ จึงไม่มีเหตุจำเป็นในการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ แต่ควรให้ความสำคัญ กับการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเยาวชนยังสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากช่องทางอื่นได้ แม้ไม่มีการจำหน่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหา การขายสินค้าออนไลน์ ที่ผิดกฎหมาย เช่น สินค้าปลอม สินค้าหนีภาษี และการพนันออนไลน์ เป็นต้น

ในฝั่งของผู้ประกอบการ ยินดีจะปฏิบัติตามกฎหมาย หากกฎหมายนั้นเป็นธรรม ชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการปฏิบัติตามนโยบาย ในช่วงวิกฤติ ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

“แต่กฎหมายดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม เกินความจำเป็น ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ และส่งผลเสียต่อหลายฝ่าย”นายธนากร กล่าว

ดังนั้น สมาคมฯ จึงขอเรียกร้อง ให้รัฐบาลพิจารณาทบทวน แก้ไขกฎหมายมาตรา 32 ให้มีความชอบธรรม และชัดเจน และยกเลิกกฎหมาย ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยยึดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 77 ที่ระบุว่า

“รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิก หรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชน เข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวก และสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo