General

ครม. เคาะพื้นที่ ‘จัดการน้ำเสีย’ หนุนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ครม. เคาะพื้นที่ จัดการน้ำเสีย เผยแต่ละวัน มีน้ำเสียจากชุมชุนวันละ 9.50 ล้านลูกบาศก์เมตร เร่งขยายพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ จับมือท้องถิ่น แก้ปัญหาน้ำเสีย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เคาะพื้นที่ จัดการน้ำเสีย โดยมีมติเห็นชอบ กำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย ขององค์การจัดการน้ำเสีย เพิ่มเติมให้ครอบคลุม ทุกจังหวัดของประเทศไทย

ครม. เคาะพื้นที่ จัดการน้ำเสีย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก ปัญหาน้ำเสีย ที่ประเทศไทยเผชิญมาเป็นระยะเวลานาน และมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำเสียจากชุมชนเฉลี่ยวันละ 9.50 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น น้ำเสียที่ผ่านการบำบัด ด้วยระบบบำบัดน้ำเสีย ตามกฎหมายควบคุมอาคาร และการบำบัดได้เองตามธรรมชาติ จำนวน 4.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน น้ำเสียที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ดังนั้นจึงยังมีน้ำเสีย ที่ไม่ได้ผ่านการบำบัดอีกจำนวน 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และกลายเป็นปัญหามลพิษทางน้ำ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาน้ำเสียอย่างจริงจัง แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกจังหวัด เนื่องจากติดขัด ข้อกฎหมายตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย พ.ศ.2538 ที่กำหนดให้ องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) มีเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย รวมทั้งสิ้น 45 พื้นที่ ใน 26 จังหวัด

ข้อกฏหมายดังกล่าว ทำให้ อจน. ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการก่อสร้าง ระบบบำบัดน้ำเสีย และบริหารจัดการ ระบบบำบัดน้ำเสีย ของชุมชน ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่รับผิดชอบได้

รัชดา ธนาดิเรก 3
รัชดา ธนาดิเรก

ทั้งนี้ จึงประกาศกำหนดเพิ่มเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย ของ อจน. เพื่อเร่งรัดการพัฒนา ระบบบริหารจัดการน้ำเสีย ของประเทศให้ดำเนินไปอย่างมีมาตรฐาน และเป็นการเตรียมความพร้อม ในการป้องกัน และแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ ได้อย่างทันสถานการณ์

การขยายพื้นที่จัดการน้ำเสีย จะเกิดประโยชน์ ดังนี้

  • เพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำเสียทั่วประเทศ ในการดูแลรักษาคุณภาพแห่งน้ำ ระบบนิเวศทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เพิ่มศักยภาพ และมูลค่าให้กับแหล่งท่องเที่ยว
  • เพิ่มโอกาสเชิงพาณิชย์ ในการบริการ หรือกิจการเกี่ยวเนื่อง ในพื้นที่บำบัดน้ำเสีย เช่น การนำน้ำเสีย ที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ การผลิตพลังงานจากน้ำเสีย
  • ไม่เป็นภาระงบประมาณภาครัฐ โดยใช้วิธีการร่วมทุน ระหว่างรัฐและเอกชน สำหรับโครงการก่อสร้าง ระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ ควบคู่กับการจัดเก็บค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

น้ำเสีย1

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติอนุมัติงบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายการเงินสำรองจ่าย วงเงิน 385.64 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ของโรงบำบัดน้ำเสีย และสถานีสูบป้องกันน้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จำนวน 2 โครงการ และโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ในพื้นที่จังหวัดระยอง จำนวน 2 โครงการ

พร้อมกันนี้ ให้ใช้เงินรายได้ ของท้องถิ่นเมืองพัทยา และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง สมทบอีกจำนวน 42.85 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้ง 4 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 428.49 ล้านบาท

สำหรับรายละเอียดแต่ละโครงการ มีดังนี้

  • โครงการปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ในระบบบำบัดน้ำเสีย จังหวัดชลบุรี วงเงิน 175.25 ล้านบาท เพื่อบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และรองรับปริมาณน้ำเสียในพื้นที่ใกล้เคียง
  • โครงการเพิ่มประสิทธิภาพ สถานีสูบป้องกันน้ำท่วม จังหวัดชลบุรี วงเงิน 77.54 ล้านบาท เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและจัดการควบคุมน้ำเสีย
  • โครงการป่าชายเลนในเมือง จังหวัดระยอง วงเงิน 81.7 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างสะพาน และเส้นทางเดินสำรวจ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ
  • โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ ศูนย์พัฒนาปลวกแดง ตามพระราชดําริ จังหวัดระยอง (ระยะที่ 3) เป็นการปรับปรุงอาคาร คอกสัตว์ ภูมิทัศน์ ฐานการเรียนรู้ และงานอื่น ๆ ภายในศูนย์ รวมถึงระบบไฟฟ้า และระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo