General

สนมั๊ย! เปิดคลินิกบนรถไฟฟ้า รักษาบัตรทอง ‘หมอเหรียญทอง’ พร้อมเปิด

เปิดคลินิกบนรถไฟฟ้า รักษาบัตรทอง “หมอเหรียญทอง” ทำประชาพิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมเปิดสาขาคลินิก รพ.มงกุฎวัฒนะนำร่อง 7 สถานี ไม่มีวันหยุด

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “เหรียญทอง แน่นหนา” ขอทำประชาพิจารณ์ แก้ปัญหาผู้ป่วยบัตรทอง ที่ได้รับผลกระทบจากการทุจริต และบอกเลิกสัญญาคลินิก โรงพยาบาล เสนอ เปิดคลินิกบนรถไฟฟ้า รักษาบัตรทอง โดยระบุว่า

เปิดคลินิกบนรถไฟฟ้า

“ขออนุญาตทำประชาพิจารณ์ว่า ถ้าผมจะแก้ปัญหา ผู้ป่วยบัตรทอง ที่ว่างจากการยกเลิกสัญญา โดย สปสช. ด้วยการเช่าพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า เพื่อเปิดเครือข่าย คลินิกบัตรทอง รพ.มงกุฎวัฒนะ (ถ้า กทม. หรือ การรถไฟฟ้าฯ อนุญาตให้เช่า และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึง สปสช.ไม่ขัดข้องนะครับ)

ทั้งนี้ เพื่อกระจายผู้ป่วยบัตรทองจำนวนมาก จาก รพ.มงกุฎวัฒนะ ไปยังคลินิก บนสถานีรถไฟฟ้า เพื่อลดความแออัดที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ และเพิ่มความสะดวก ในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ แก่ผู้ป่วยบัตรทอง โดยแต่ละสถานี จะมีลิฟต์สำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุอยู่แล้ว

หากแนวความคิดนี้ สามารถปฏิบัติได้ ผมจะวางแผน เปิดคลินิกสาขา รพ.มงกุฎวัฒนะ ที่

1. สถานีลาดพร้าว หรือหมอชิต (นำร่องลำดับ 1)

2. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน (นำร่องลำดับ 2)

3. สถานี กม.25 หรือ ลำลูกกา (เมื่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขยายเส้นทางทำการ)

4. สถานีหลักสี่ (เมื่อรถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดทำการ)

5. สถานีดอนเมือง (เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดทำการ)

6. สถานีบางเขน (เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดทำการ)

7. สถานีกลางบางซื่อ (เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดทำการ ที่นี่จะมีขีดความสามารถสูง และรับผู้ป่วยค้างคืนชั่วคราวได้ จะเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง)

เครือข่ายคลินิกทั้งหมด จะเปิดทำการทุกวัน ๆ ละ 12 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด สามารถรองรับผู้ป่วยบัตรทอง ที่ว่างจากการยกเลิกสัญญาโดย สปสช. เพื่อขึ้นทะเบียนได้มากถึง 200,000-300,000 คน ลดความแออัด ผู้ป่วยบัตรทองใน รพ.มงกุฎวัฒนะ ได้อย่างมีประสิทธิผล สามารถแบ่งเบาภาระ รพ.รัฐ หรือศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ได้

ท่านทั้งหลาย มีความเห็นอย่างไรครับ ขอบคุณมากครับ”

สำหรับความคืบหน้า กรณีการปก้ปัญหา คลินิก โรงพยาบาล โกงเงินบัตรทองนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกมาชี้แจงถึงการยกเลิกสัญญา 64 คลินิก-รพ.เอกชนด้วยเหตุทุจริต ว่า เนื่องจาก พบการนำสิทธิประชาชน มาแอบอ้างเบิกค่าใช้จ่าย โดยประชาชนไม่ได้เข้าใช้บริการจริง เป็นการจงใจสร้างหลักฐานเท็จ ถือว่าเป็นการทุจริต เป็นความผิดอาญา

นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขเกินจริง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้ตรวจพบและแจ้งความไปแล้ว 2 ล็อต คือ ล็อตแรก 18 แห่ง ล็อตที่ 2 อีก 64 แห่ง

ล่าสุด ให้ สปสช.แจ้งความกับกองปราบปรามล็อตที่ 3 เพิ่มอีก 106 แห่ง รวมทั้งหมดเป็น 188 แห่ง และจะเรียกค่าเสียหายคืนทั้งหมด หากไม่คืนจะฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อ

อย่างไรก็ตาม การทุจริตที่ตรวจสอบพบ ยังเป็นโครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพียง 1 รายการ คือ รายการของ กลุ่มโรคเมตาบอลิก จากที่มีทั้งหมด 18 รายการ และเป็นการตรวจสอบ เฉพาะการเบิกจ่าย ในปีงบประมาณ 2562 ส่วนอีก 17 รายการ จะทยอยตรวจสอบ หลังจากตรวจสอบรายการที่ 1 เสร็จ

นอกจากนี้ จะเสนอบอร์ด สปสช. ขยายการตรวจสอบ การเบิกจ่ายโครงการนี้ ย้อนหลังไปถึงปีงบประมาณ ที่เริ่มต้นโครงการ จะทำให้บอกได้ว่า มีการทุจริตเบิกจ่ายโครงการนี้ไปเท่าไร

พร้อมกันนี้ อนุกรรมการฯ ได้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด เพื่อให้ข้อเสนอแนะ สปสช.ในการป้องกันปัญหาในอนาคต คือ 1. คณะทำงานดูความเสี่ยงทั้งหมดของระบบเบิกจ่ายเงิน และ 2. คณะทำงานดูระบบบริการทั้งหมด รวมถึงการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการต่างๆ และการเลือกคลินิกที่มีความมั่นใจ

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การตรวจสอบพบทุจริตในล็อตที่ 3 จำนวน 106 แห่ง มีประชาชนที่จะได้รับผลกระทบอีกราว 9 แสน – 1 ล้านคน อยู่ระหว่างการประสานและดำเนินการเพื่อหาหน่วยบริการรองรับ ส่วนมูลค่าความเสียหายรวมทั้ง 3 ล็อตเป็นเงิน 195 ล้านบาท โดยทั้ง 188 แห่ง สปสช.ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาที่กองปราบปรามฯ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo