Economics

ในที่สุดก็มีวันนี้! ‘รถไฟไทย-จีน’ 3.5 กม. แรกเสร็จแล้ว ก่อสร้างนาน 2 ปี 6 เดือน

ในที่สุดก็มีวันนี้! “รถไฟไทย-จีน” 3.5 กม.แรก กลางดง-ปางอโศก เสร็จแล้ว ก่อสร้างนาน 2 ปี 6 เดือน โว! ต้นแบบโครงการ 200 กว่ากม. ที่เหลือ

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดี กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมทางหลวงได้ดำเนิน โครงการก่อสร้างทาง รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา  ช่วงที่ 1 กลางดง – ปางอโศก กม.150+500 – 154+000 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรแรก ซึ่งเป็นไปตามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ทล. กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดย ทล. ดำเนินการก่อสร้างให้นั้น

รถไฟไทย-จีน

ปัจจุบัน ทล. ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ 100% และคาดว่าจะส่งมอบงานให้การรถไฟฯ ภายในเดือนกันยายน 2563

โครงการนี้จะถือเป็นต้นแบบในการดำเนินงานในช่วงต่อไปของโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการทำงาน คุณภาพของวัสดุ ทำให้สามารถใช้วัสดุภายในประเทศให้มากที่สุด ซึ่ง ทล. ได้ปรับปรุงคุณภาพวัสดุ เช่น คอนกรีต เหล็กเส้น และงานชั้นวัสดุ Top Layer ให้มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานรถไฟความเร็วสูง

สำหรับโครงการก่อสร้างทาง รถไฟไทย–จีน ช่วงที่ 1 กลางดง – ปางอโศก ประกอบด้วยงานหลัก 5 งาน ได้แก่

  • งานย้ายรางรถไฟเดิม
  • งานดินตัดและงานถมวัสดุในหน้าตัดคันทางรถไฟความเร็วสูง
  • งานชั้นวัสดุ Top Layerหรืองานบดอัดวัสดุก่อนงานวางรางและหินโรยทาง
  • งานคอนกรีตประกอบคันทางรถไฟความเร็วสูง
  • งานถนนบริการขนานกับคันทางรถไฟความเร็วสูง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

 

ก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง!

นายอภิรัฐกล่าวต่อว่า การดำเนินงานทั้งหมดใช้เวลาทั้งสิ้น 2 ปี 6 เดือน ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องใช้กระบวนการทำงานของ ทล. เองมาประยุกต์ให้เข้ากับกระบวนการทำงานของ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โดยผู้ควบคุมงานจากประเทศจีน

ที่ผ่านมา ทล. ได้ทำงานควบคู่กับการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อให้สามารถใช้วัสดุภายในประเทศให้ได้มากที่สุดและที่ผ่านมาได้นำเข้าวัสดุจากประเทศจีน 2 รายการ ได้แก่ ผ้าใบกันความชื้น และสายดิน คิดเป็น 2% ของมูลค่าก่อสร้างรวมทั้งหมด

S 639909895

นอกจากนี้ ทล. ยังได้จัดทำคู่มือการก่อสร้างคันทางรถไฟความเร็วสูงตามประสบการณ์การทำงานกับผู้ควบคุมจากประเทศจีน เพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจหรือผู้รับจ้างอื่นๆต่อไป

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างทาง รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะช่วยเสริมสร้างโครงข่ายการคมนาคมของประเทศรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการคมนาคมขนส่งถึงประเทศจีน อีกทั้ง ยังเป็นการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อเดินหน้าประเทศไทยอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

 

“รถไฟไทย-จีน” ยังห่างไกลคำว่าเปิดวิ่ง 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น ได้เป็นประธานในพิธีตักดินเริ่มก่อสร้าง รถไฟไทย-จีน เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท ตั้งแต่ปลายปี 2560 นับเป็นการก่อสร้างงรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย

การก่อสร้างทางรถไฟ 3.5 กิโลเมตรแรก ช่วงกลางดง-ปางอโศก ได้มอบหมายให้ ทล. เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2560 ส่วนระยะทางอีก 250 กิโลเมตรที่เหลือ จะทยอยเปิดให้ผู้รับเหมาเข้าประมูลก่อสร้างเป็นการทั่วไปจำนวน 13 สัญญา

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่มีระยะทางเพียง 3.5 กิโลเมตรนี้ กลับมีปัญหาความล่าช้าอย่างมาก เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณของทางราชการ รวมถึงการปรับกระบวนการทำงานให้เข้ากับเทคนิคก่อสร้างและมาตรฐานของประเทศจีน

fig 06 11 2019 07 51 47

สำหรับงานก่อสร้างอีก 13 สัญญาที่เหลือ ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาความล่าช้า ไม่สามารถลงนามสัญญากับผู้รับเหมาได้ แม้การประมูลจะสิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากโครงการ รถไฟไทย-จีน มีการปรับแบบ ส่งผลให้ต้องเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับปรับปรุงใหม่ รวมถึงบางส่วนต้องทบทวนแบบให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยและประเทศจีนก็ยังไม่ได้ลงนามสัญญาจัดซื้อระบบอาณัติสัญญาณและขบวนรถ เนื่องจากเป็นสัญญาที่สามารถเจรจาหลังสุดและล่าสุดยังติดปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การลงนามต้องหยุดชะงักไปในช่วงต้นปี 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo