Wellness

29 กันยายน’วันหัวใจโลก’ร่วมสัญญาปรับพฤติกรรมป้องกันโรค

heart
elderly woman have heart disease sitting on wheelchair’

‘วูบ’ กลายเป็นหัวข้อสนทนาสุขภาพยอดฮิต เมื่อหลายวันมานี้มีข่าวคราวคนดัง ‘วูบ’ หลายคนติดๆกัน บ้างฟื้นได้ บ้างต้องเสียชีวิตกะทันหัน  และสาเหตุหนึ่งของการ ‘วูบ’ พบว่ามาจากระบบหายใจ และไหลเวียนโลหิตล้มเหลว จากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด และแน่นอนว่า โรคนี้กำลังเป็น ‘ภัยเงียบ’ คุกคามสุขภาพของคนทั้งโลก

องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในปี 2558 กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลก พบมีถึง 17.7 ล้านคนคิดเป็น 31% ของการตายของคนทั้งโลก สำหรับประเทศไทย สถิติสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข พบอัตราการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจต่อ 100,000 ประชากรเพิ่มขึ้นตามลำดับ

  • ปี 2555  =  23.4 คน
  • ปี 2556  = 26.9 คน
  • ปี 2557  = 27.8 คน
  • ปี 2558  = 29.9 คน
  • ปี 2559  = 32.3 คน

ส่วนอัตราการป่วยต่อ 100,000 ประชากร

  • ปี 2554 = 412.70 คน
  • ปี 2555 = 427.53 คน
  • ปี 2556 = 431.91 คน
  • ปี 2557 = 407.70 คน
  • ปี 2558 = 501.13 คน

ส่วนสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 16 กันยายน 2561  พบมีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 คน อัตราการเสียชีวิต 20,855 คน ส่วนใหญ่พบในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีผู้ป่วยอยู่ราว 305,667 คน เสียชีวิต 18,256 คน

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรค ประกอบด้วย

  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
  • อ้วนลงพุง
  • สูบบุหรี่
  • โรคเบาหวาน
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • ไม่กินผักผลไม้
  • เครียด

สำหรับการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยพบข้อมูลสำคัญว่าประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น สอดคล้องกับที่พบว่าช่วงอายุ 15-24 ปีมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น

สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตอกย้ำว่า สูบบุหรี่วันละ 1 มวนเพิ่มอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 1.74 เท่าในผู้ชาย และ 2.19 เท่าในผู้หญิงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เช่นเดียวกับผู้ที่สูดควันบุหรี่มือสองมีความเสี่ยงไม่แพ้กัน  

จะพบว่าปัจจัยเสี่ยงมาจากพฤติกรรมการกินอยู่เป็นหลัก ดังนั้น 29 กันยายน ของทุกๆปี สมาพันธ์หัวใจโลก (World heart Federation) จึงกำหนดเป็นรณรงค์วัน ‘หัวใจโลก’ เพื่อให้ประชากรโลกลดปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน รวมถึงประเทศไทย

ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กำหนดประเด็น  My heart , Your Heart :   ใจเขา ใจเรา เป็นประเด็นรณรงค์ประจำปี 2561 เพื่อรณรงค์ให้คนไทยทำ ‘สัญญากับตัวเอง’ ปรับพฤติกรรมบริโภคอาหารให้หันมาเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายมากขึ้น และเลิกบุหรี่ เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดโรค ทั้งการสูบบุหรี่โดยตรง และการได้รับควันบุหรี่มือสอง รวมถึงมารดาที่สูบบุหรี่ในระหว่างตั้งครรภ์ ที่บุตรมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

คำสัญญาปรับพฤติกรรม 

  • ตั้งเป้าอย่างน้อย 30 นาที เพื่อออกกกำลังกายอย่างเข้มข้น 5 ครั้ง/สัปดาห์
  • เล่นกีฬา เดิน หรือทำงานบ้าน เต้นรำ
  • เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟท์ และบันไดเลื่อน เดินปั่นจักรยานแทนการขับรถ
  • ออกกำลังกายกับเพื่อน/ครอบครัว เพื่อจูงใจและกระตุ้น
  • ใช้แอพพลิเคชั่นที่บอกถึงระดับการออกกำลังกาย เช่น เครื่องนับก้าวเดิน เพื่อช่วยบอกถึงการออกกำลังกายและสุขภาพ

คำสัญญาว่าจะเลิกบุหรี่

  • เลิกบุหรี่เป็นสิ่งเดียวที่จะดูแลหัวใจให้มีสุขภาพดี
  • เลิกบุหรี่ภายใน 2 ปี ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • การสูดดมควันบุหรี่ของผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • เลิกบุหรี่นอกจากจะช่วยสุขภาพตัวเองแล้ว มีผลต่อคนรอบข้างด้วย
  • ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ด้วยตนเอง ให้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญ

หวังว่าวัน ‘หัวใจโลก’ ในปีนี้จะเป็นวันเริ่มต้นของทุกคนไทยทุกคนที่จะเริ่มหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองก่อนจะ ‘วูบ’ โดยไม่รู้ตัว

Avatar photo