World News

เปิดโปง! เอกสารลับชี้แบงก์ยักษ์โลก ‘ฟอกเงิน’ ชื่อ ‘แบงก์ยักษ์ไทย’ โผล่ด้วย

ICIJ เปิดโปง เอกสารลับ ข้อมูลของ “เครือข่ายป้องกันอาชญากรรมทางเงินแห่งชาติสหรัฐ” หรือ FinCEN พบธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลกหลายแห่ง ปล่อยให้อาชญากรฟอก และโอน “เงินสกปรก” ไปทั่วโลก ทั้งในเอกสารลับ ยังมีรายชื่อ “ธนาคารชื่อดัง” ของไทยติดอยู่ด้วย  

เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เผยแพร่ เอกสารลับ ของเครือข่ายป้องกันอาชญากรรมทางเงินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FinCEN) ซึ่งเป็นข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตทางการเงินทั่วโลก มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 60 ล้านล้านบาท

เอกสารลับ
ภาพ : เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ

ICIJ รายงานว่า ข้อมูลของ FinCEN รั่วไหลสู่บุคคลภายนอก หลังจากที่มีการล้างระบบบันทึกข้อมูลการเงินของสหรัฐ รวมถึงเอกสารการทำธุรกรรมทางการเงินกว่า 2,500 ชุด ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2543 – 2560 โดยส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ธนาคารประเทศต่างๆ ทั่วโลกส่งให้แก่รัฐบาลสหรัฐ

การตรวจสอบข้อมูลของ FinCEN พบว่า ตั้งแต่ปี 2542- 2560 มีการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้อง หรือต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการทุจริต โดยสถาบันการเงินการธนาคารในหลายประเทศ คิดเป็นเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 60 ล้านล้านบาท

บีบีซี รายงานว่า เอกสารรายงานธุรกรรมทางการเงินมากกว่า 2,000 ฉบับนั้นมีมูลค่ารวมกันราวๆ 2 ล้านล้านดอลลาร์ จากจำนวนธุรกรรมที่น่าสงสัยมากกว่า 18,000 ธุรกรรม โดยแสดงให้เห็นว่า ธนาคารระดับโลกใหญ่ๆ หลายแห่ง มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม ที่มีการทุจริตทางการเงิน โดยพบว่ามีการให้บริการทางการเงินกับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงจากทั่วโลก แม้ว่าในบางรายจะถูกรัฐบาลสหรัฐ คว่ำบาตรก็ตาม

เอกสารลับ เปิดโปงอะไรบ้าง

  • เอชเอสบีซี อนุญาตให้ผู้ฉ้อโกงโอนเงินหลายล้านดอลลาร์ ที่ถูกขโมยมา แม้ว่าเจ้าหน้าที่สืบสวนสหรัฐ จะระบุแล้วว่าเงินมาจากการฉ้อโกง
  • เจพี มอร์แกน อนุญาตให้บริษัทหนึ่งโอนเงินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ผ่านบัญชีในกรุงลอนดอน โดยไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ ธนาคารมารู้ภายหลังว่าเป็นสมาชิกแก๊งอาชญากรที่เป็นที่ต้องการตัวติด 10 อันดับของสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐ หรือเอฟบีไอ
  • มีหลักฐานว่าผู้ใกล้ชิด วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ใช้ธนาคารบาร์เคลย์ ในกรุงลอนดอน เพื่อเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรที่ห้ามไม่ให้เขาใช้บริการทางการเงินในประเทศตะวันตก เงินสดบางส่วนถูกนำไปใช้ซื้องานศิลปะ
  • สามีของผู้หญิงที่บริจาคเงิน 1.7 ล้านปอนด์ ให้กับพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลสหราชอาณาจักรอยู่ ได้รับเงินสนับสนุนลับ ๆ จากชนชั้นนำรัสเซียคนหนึ่งซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีปูติน
  • มีบริษัทจากสหราชอาณาจักรจำนวนมากที่ปรากฏชื่ออยู่ในรายงานว่าด้วยธุรกรรมที่ต้องสงสัย (SARs) มีชื่อบริษัทจากสหราชอาณาจักรกว่า 3,000 แห่งปรากฏอยู่ในเอกสาร FinCEN
  • ธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่ลงมือปฏิบัติแม้จะมีคำเตือนแล้วว่าบริษัทท้องถิ่นแห่งหนึ่งกำลังช่วยอิหร่านเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร
  • ดอยซ์ แบงก์ โอนย้าย “เงินสกปรก” ให้องค์กรอาชญากรรม ผู้ก่อการร้าย และผู้ค้ายาเสพติด
  • สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) โยกย้ายเงินสดให้กับธนาคารอาหรับ (Arab Bank) นานกว่าทศวรรษหลังจากบัญชีลูกค้าที่ธนาคารซึ่งอยู่จอร์แดนนี้ถูกใช้ในการให้ทุนสนับสนุนการก่อการร้าย

จำนวนธุรกรรมการเงิน ที่เกี่ยวข้อง หรือต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการทุจริต มากที่สุด ในข้อมูลที่หลุดออกมา เกิดขึ้น ในสหราชอาณาจักร มีมากกว่า 3,000 ธุรกรรม รองลงมาคือ ไซปรัส

เอกสารของ FinCEN ยังแสดงให้เห็นว่า มี ธนาคารในประเทศไทย  4 ราย มีชื่อติดอยู่ในเครือข่ายการเงินทั่วโลก ที่ส่งรายงานการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยให้กับทาง FinCEN

ข้อมูลที่หลุดออกมา ระบุว่า การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารไทยในช่วงปี 2543-2560 มีการทำธุรกรรมทางการเงินที่น่าสงสัย 92 ครั้ง ทั้งจากธนาคารของรัฐ และเอกชนชื่อดัง ซึ่งในเอกสารยังระบุว่า มีการโอนเงินจากธนาคารเหล่านี้ ไปยังธนาคารที่ตั้งอยู่ในสหรัฐ 4 แห่ง มูลค่าเงินรวมกันถึง 31,750,000 ล้านดอลลาร์  หรือราว 95.25 ล้านล้านบาท

เอกสาร FinCEN คืออะไร

FinCEN ย่อมาจาก US Financial Crimes Enforcement Network หรือเครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินแห่งสหรัฐ

เอกสาร FinCEN มากกว่า 2,500 ชิ้น ที่ถูกปล่อยออกมา และส่วนใหญ่เป็นเอกสารที่ธนาคารส่งให้ทางการสหรัฐ ระหว่างปี 2543-2560  เป็นกระบวนการสำหรับแจ้งไปยังทางการสหรัฐฯ หากธนาคารสงสัยว่าธุรกรรมทางการเงินของลูกค้า ดูไม่ชอบมาพากล

เอกสารเหล่านี้เป็นความลับที่ระบบธนาคารนานาชาติหวงแหนที่สุด ธนาคารใช้เอกสารนี้เพื่อรายงานความไม่ชอบมาพากลแต่ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานการกระทำผิดได้

เอกสารลับ

เอกสารเหล่านี้รั่วไหลไปถึงมือเว็บไซต์ข่าว Buzzfeed News และถูกนำไปให้กับกลุ่มนักข่าวสืบสวนทั่วโลก และส่งต่อไปรายการข่าว 108 แห่งใน 88 ประเทศทั่วโลกรวมถึงรายการ Panorama ของ BBC ด้วย

นักข่าวหลายร้อยชีวิตช่วยกันอ่านและวิเคราะห์เอกสารจำนวนมหาศาล พบธุรกรรมหลายประการที่ธนาคารไม่อยากให้สาธารณชนรู้

มีข้อบังคับว่าธนาคารต้องรายงานถึงธุรกรรมทางการเงินที่ดูไม่ชอบมาพากลไปยังเครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินแห่งสหรัฐฯ หากเป็นธุรกรรมนั้นเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ก็ตาม

SARs ย่อมาจาก Suspicious activity reports หรือ รายงานว่าด้วยธุรกรรมที่ต้องสงสัย ธนาคารต้องกรอกเอกสารนี้และส่งไปให้เจ้าหน้าที่ในกรณีที่สงสัยว่าลูกค้าทำธุรกรรมที่ต้องสงสัย

ต่างจากเหตุเอกสารรั่วไหลอื่นอย่างไร

แม้ที่ผ่านมา ICIJ จะมีการนำเอกสารรั่วไหลมาเปิดเผยหลายครั้ง อย่าง “ปานามา เปเปอร์ส” (Panama Papers) เมื่อปี 2559 และ “พาราไดซ์ เปเปอร์ส” (Paradise Papers) ในปี 2560 ที่เปิดโปงว่ามหาเศรษฐีและผู้มีอำนาจของโลก แอบนำเงินไปลงทุนในประเทศที่ช่วยหลบเลี่ยงภาษี

แต่เอกสาร FinCEN แตกต่างตรงที่ไม่ใช่แค่เอกสารที่รั่วไหลมาจากหนึ่งหรือสองบริษัท แต่มาจากหลายธนาคาร ทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดธนาคารถึงนิ่งเฉยแม้ว่าจะพบการทำธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัย

เครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินแห่งสหรัฐ บอกว่าเอกสารที่รั่วไหลอาจส่งผลต่อความมั่นคงของสหรัฐ สร้างผลกระทบต่อกระบวนการสืบสวน และเสี่ยงต่อความปลอดภัยของสถาบันหรือบุคคลที่เป็นผู้ยื่นเรื่องรายงาน

แต่สัปดาห์ที่แล้ว เครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินแห่งสหรัฯ เผยแผนปรับปรุงโครงการต่อต้านการฟอกเงินใหม่ ทางการสหราชอาณาจักรก็เพิ่งเปิดเผยแผนปรับเปลี่ยนระบบลงทะเบียนข้อมูลบริษัทเพื่อจัดการกับการฉ้อโกง และการฟอกเงิน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo