Economics

รับ ‘เงินสงเคราะห์บุตร’ ประกันสังคม ผ่าน ‘พร้อมเพย์’ ได้แล้ว

ประกันสังคม เพิ่มช่องทางบริการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณี “เงินสงเคราะห์บุตร” ผ่านระบบบริการ “พร้อมเพย์” กับธนาคารที่ผู้ประกันตน เปิดบัญชีเงินฝากแล้ว

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มช่องทางให้บริการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทน กรณีสงเคราะห์บุตร ผ่านระบบบริการพร้อมเพย์ กับธนาคารที่ผู้ประกันตนเปิดบัญชีเงินฝาก กับธนาคารไว้

cover เงินสงเคราะห์บุตร

โดยขอเชิญชวนผู้ประกันตนที่สนใจขอรับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร สามารถลงทะเบียนพร้อมเพย์ ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน กับธนาคารที่เปิดบัญชีเงินฝากไว้ ก่อนยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร

สำหรับผู้ประกันตน ที่ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรไว้แล้ว สามารถแจ้งการเปลี่ยนแปลงการขอรับประโยชน์ จากการรับเงินโอนผ่านบัญชีธนาคาร เป็นผ่านบริการพร้อมเพย์ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่  จังหวัด หรือ สาขา ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มช่องทางการให้บริการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรผ่านระบบบริการพร้อมเพย์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการลดการใช้กระดาษ (Paperless) และเป็นการอำนวยความสะดวก ให้กับผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีความโปร่งใส ลดความผิดพลาด ลดการใช้เงินสดและเช็คอีกด้วย

การขอรับประโยชน์ทดแทน กรณี ‘เงินสงเคราะห์บุตร’

สิทธิประโยชน์

  • ผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาท ต่อบุตรหนึ่งคน
  • บุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ได้รับกรณีสงเคราะห์บุตร

  • ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
  • สำหรับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน (บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้ เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น)
  • ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

การเบิกสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร

สำนักงานประกันสังคมจะต้องทำการตรวจสอบ การนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน หากมีการนำส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนบุตรคลอด จึงจะมีการย้อนหลังให้ไม่เกิน 1 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด

ยกเว้น กรณีผู้ประกันตนมิได้นำส่งเงินสมทบตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนด ทางสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินให้ผู้ประกันตน ณ วันที่สิทธิ์เกิดขึ้นเท่านั้น

เอกสารหลักฐานยื่นขอ “เงินสงเคราะห์บุตร”

กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร (สปส. 2-01)
  • สูติบัตรต้นฉบับของบุตรพร้อมสำเนา 1 ชุด
  • สำเนาบัตรประชาชนของผู้ยื่นคำขอ
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อ และเลขที่บัญชี ของผู้ยื่นคำขอ มี 11 ธนาคาร ดังนี้
    ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB
    ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) BAY
    ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL
    ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) TMB
    ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) SCB
    ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) KBANK
    ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) TBANK
    ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) CIMB
    ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย IBAK
    ธนาคารออมสิน
    ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เงินสงเคราะห์บุตร

กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร (สปส. 2-01)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประกันตน
  • สูติบัตรต้นฉบับของบุตรพร้อมสำเนา 1 ชุด
  • สำเนาทะเบียนสมรส หรือ สำเนาทะเบียนการหย่า พร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตน หรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อ และเลขที่บัญชี ของผู้ยื่นคำขอมี 11 ธนาคาร ดังนี้
    ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB
    ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) BAY
    ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL
    ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) TMB
    ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) SCB
    ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) KBANK
    ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) TBANK
    ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) CIMB
    ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย IBAK
    ธนาคารออมสิน
    ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

สถานที่ติดต่อ

สำนักงานประกันสังคมทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศ (ติดต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ /ติดต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัด) ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo