Politics

‘พล.ต.อ.วิระชัย’ เดินหน้ายื่นฟ้อง! 8 คณะกรรมการสอบคดีคลิปเสียง

วิระชัย ทรงเมตตา เดินหน้ายื่นฟ้อง 8 คณะกรรมการสอบคดีคลิปเสียงสนทนาลับ นัดฟังคำสั่งชั้นตรวจคำฟ้อง 5 ต.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวมีรายงาน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบอำนาจให้ทนายความ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร จเรตำรวจแห่งชาติ กับพวก รวม 8 คนเป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ อท.144/2563 ข้อหาตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,157

วิระชัย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 8 เป็นเจ้าพนักงานและมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจัดทำรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 24/2563 กรณีสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับคลิปเสียงโทรศัพท์การสนทนา เหตุคนร้ายยิงรถยนต์ของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ระหว่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา กับโจทก์

จำเลยทั้ง 8 ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันจัดทำรายงานพร้อมสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ โดยได้กล่าวหาว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวมีมูลเพียงพอรับฟังได้ว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยอำเภอใจมิได้พิจารณาโดยใช้ดุลพินิจอย่างเที่ยงธรรมถูกต้องเหมาะสมการรายงานผลดังกล่าว

เป็นเหตุให้โจทก์ถูกกล่าวหาทางคดีอาญา ถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงและถูกสำรองราชการให้พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายยาดคุณสมบัติในการได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ได้รับเงินประจำตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งกรรมการข้าราชการตำรวจ

ทั้งนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งชั้นตรวจคำฟ้อง ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ เวลา 09.30 น.

วิระชัย
ขอบคุณภาพจาก ไทยโพสต์

ผู้สื่อข่าวประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า ป้ายทำเนียบผู้บังคับบัญชาในระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และจเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ที่ติดอยู่บริเวณหน้าห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีการนำภาพของ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา สำรองราชการ ตร. ออกจากทำเนียบ

โดยมีรายงานว่า เนื่องจากวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี ให้พ้นจากตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า การปลดรูปออกจากทำเนียบ รองผบ.ตร.ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุจากการถูกย้ายไปอยู่ตำแหน่ง สำรองราชการ ตร. แล้ว กระนั้นภายใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็วิพากษ์วิจารณ์กันว่าเหมือนเป็นการเอาคืนด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา อายุ 57 ปี รอง ผบ.ตร. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อายุ 60 ปี ผบ.ตร. เป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในความผิดฐาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือผู้หนึ่งผู้ใดได้ประโยชน์

คำฟ้องระบุพฤติการณ์ว่า โจทก์รับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2523 ปัจจุบันเป็น รอง ผบ.ตร. อาวุโสลำดับที่ 1 ส่วน พล.ต.อ.จักรทิพย์ จำเลยเป็น ผบ.ตร. มีอำนาจหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายภายใต้อำนาจหน้าที่ที่ตนมี แต่จำเลยกลับใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กลั่นแกล้งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

โดยมีพฤติการณ์เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ได้เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่รถยนต์ของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ถือเป็นคดีสำคัญ เพราะเป็นการกระทำความผิดอาญาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. ผู้เสียหายเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และเป็นที่สนใจของประชาชนและสื่อมวลชน เนื่องจากในขณะเกิดเหตุดังกล่าว จำเลยไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักร โจทก์ในขณะนั้น รักษาราชการแทนจำเลยในตำแหน่ง ผบ.ตร. มีฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนทั่วราชอาณาจักร และมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมการปฏิบัติราชการทั้งปวงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติแทนตามกฎหมาย ดังนั้นโจทก์จึงเข้าไปควบคุม กำกับ และเร่งรัดการสืบสวนเพื่อจับกุมคนร้ายได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ ขณะที่จำเลยอยู่ในต่างประเทศ ก็ได้โทรศัพท์ติดต่อมายังโจทก์ เมื่อเวลา 21.30 น ซึ่งโจทก์เข้านอนแล้ว ไม่สะดวกที่จะจดบันทึกรายละเอียดในการสนทนา เพราะเป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วน จึงต้องใช้การบันทึกเสียง แทนการจดบันทึกการสนทนา เพราะเห็นว่ากรณีคำแนะนำที่สำคัญและเป็นประโยชน์ที่จะได้นำไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานต่อไป

จากบทสนทนาดังกล่าว เห็นได้ว่า จำเลยได้พูดระบายความรู้สึกในใจของจำเลยที่มีต่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ และตำหนิการกระทำของโจทก์ที่เข้าไปควบคุมคดีนี้ การสนทนาดังกล่าว จึงไม่เป็นข้อสั่งการทางราชการ เพราะขณะนั้นจำเลยอยู่ต่างประเทศ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายสั่งการโจทก์ได้ และบทสนทนาดังกล่าวไม่ใช่ความลับทางราชการ เพราะความลับทางราชการตามกฎหมาย คือ ข้อมูลข่าวสารที่มีคำสั่งมิให้เปิดเผย อยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐและมีการกำหนดชั้นของความลับไว้เป็นลำดับ

ซึ่งหากพิจารณาบทสนทนาแล้ว ไม่ได้มีการระบุหรือสั่งการอย่างใดว่า เป็นความลับทางราชการ ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ข้อ 5 ที่ได้กำหนดนิยามของคำว่า “ข้อมูลข่าวสารลับ” ไว้ดังกล่าว

ช่วงเช้าวันต่อมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ได้ติดตามสอบถามความคืบหน้าของคดีดังกล่าว โจทก์จึงได้แจ้งให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ทราบว่าคดีดังกล่าว จำเลยได้ติดตามความคืบหน้าของคดีอย่างใกล้ชิดและตำหนิไม่ให้โจทก์เข้าไปควบคุมดูแลคดีนี้อีก โจทก์ได้ส่งมอบคลิปเสียงสนทนาดังกล่าวให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีโดยตรง เพื่อให้ไปติดตามผลการสอบสวนได้อย่างถูกต้อง และเพื่อประโยชน์ของการสืบสวนสอบสวน

โจทก์ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการ เพราะคลิปเสียงสนทนาดังกล่าว ไม่เป็นความลับราชการและไม่ทำให้ผู้รับฟังเกลียดชังจำเลยหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับจะเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อจำเลย เพราะการพูดของจำเลยในคลิปสนทนาเป็นการยกย่อง และเชื่อมั่นการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาที่พูดในทำนองว่า นครบาลมีความสามารถทำคดีนี้ได้อยู่แล้ว ผู้ที่ได้รับความอับอายในคลิปเสียงคือ โจทก์ไม่ใช่จำเลย และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในกรณีคลิปสนทนานี้ ถูกเผยแพร่คือ โจทก์ไม่ใช่จำเลย อีกทั้งโจทก์ไม่เคยเผยแพร่คลิปสนทนาดังกล่าวไปยังบุคคลอื่น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo