Lifestyle

‘วัยเกษียณ’ เตรียมพร้อม ‘วิถีชีวิตใหม่’ ดูแลสุขภาพ อย่างมีคุณภาพ

วัยเกษียณ เตรียมพร้อม วิถีชีวิตใหม่ กรมอนามัย แนะดูแลสุขภาพตนเอง อย่างมีคุณภาพ ทั้งการปรับตัวทางสังคมและจิตใจ พฤติกรรมการออม

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดี กรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาด โรคโควิด-19 ถึงแม้ว่าจะเริ่มคลี่คลายลง แต่ประชาชน ก็ยังคงต้องปฏิบัติตาม คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะ วัยเกษียณ ที่ต้องเตรียมพร้อม รับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)

วัยเกษียณ

ทั้งนี้ ผู้เกษียณอายุ ที่ก้าวสู่ วัยผู้สูงอายุ ควรมีการปรับตัว ตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่ และสร้างสุขอนามัยที่ดี เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย ทุกครั้งเมื่อต้องออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ

นอกจากนี้ ยังต้องหลีกเลี่ยง การใช้ขนส่งสาธารณะ และการไปในที่แออัด และ เว้นระยะห่างอยู่เสมอ

ขณะเดียวกัน ผู้เกษียณ ควรมีการเตรียมตัว หรือการวางแผน เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพของตนเอง ด้วยอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ที่หลากหลาย ไม่จำเจ เลือกกินข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือ เพื่อให้ได้วิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร กินผัก และผลไม้เป็นประจำ เพื่อให้ได้รับวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ

ผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด และกินอาหารสะอาด ปราศจากการปนเปื้อน รวมทั้งดื่มนมเป็นประจำวันละ 1 แก้ว เพื่อให้ได้รับแคลเซียม และวิตามินต่างๆ อย่างเพียงพอ

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร 1
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร

ขณะเดียวกัน หากมีปัญหาเกี่ยวกับ สุขภาพช่องปาก ควรดัดแปลงอาหาร ให้อ่อนนิ่ม หรือมีขนาดเล็กลง และควรออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมทางกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาที มากกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่ควรออกกำลังกาย ที่ใช้แรงกระแทก โดยเฉพาะข้อเข่า เพราะจะทำให้เข่ารับน้ำหนักมากขึ้น จนเป็นสาเหตุของ ข้อเข่าเสื่อม

อีกประเด็นสำคัญ คือ การให้ความสำคัญ กับด้านจิตใจและสังคม สำหรับการดูแลวัยเกษียณด้วย เพราะทุกอย่าง ล้วนเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลกัน ส่งผลให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และมองเห็นคุณค่าของตนเอง อย่างภาคภูมิใจ

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวว่า วัยเกษียณ ควรมีการเตรียมความพร้อม ของที่อยู่อาศัย จัดบ้านและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุ และอันตรายต่างๆ

ตัวอย่างเช่น การใช้วัสดุกันลื่นในห้องน้ำ มีราวจับ ใช้โถส้วมแบบนั่งราบ จัดบ้านให้โล่ง และอากาศถ่ายเทได้สะดวก

วัยเกษียณ

พร้อมกันนี้ การออมเงิน ไว้ใช้หลังเกษียณอายุก่ารทำงาน ยังเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยการเตรียมสะสมเงินสำรอง ไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ และ ประมาณการรายรับ – รายจ่าย ในแต่ละเดือน จะช่วยลดปัญหา และภาวะเครียด จากค่าใช้จ่ายที่ไม่พอใช้ได้

ส่วนลูกหลาน และญาติ ควรหาเวลา เพื่อพบปะ หรือโทรศัพท์ถามทุกข์สุข ก็จะช่วยให้ผู้เกษียณไม่เหงา และป้องกันภาวะซึมเศร้าได้

กรมอนามัย ยังได้จัดทำ “สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ” (สมุดสีฟ้า) ในการประเมินสุขภาพตนเองเบื้องต้น 9 ประเด็นหลัก ทั้งนี้ ผู้สูงอายุสามารถรับได้ที่สถานบริการสาธารณสุขหรือดาวน์โหลดได้ที่ http://eh.anamai.moph.go.th/main.php?filename=Agingmanual

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เตือนว่า อันตราย 3 ประการของผู้เกษียณอายุ คือ ความกลัวปัญหาความเสื่อมโทรมใน 3 ด้าน คือ

ด้านสุขภาพอนามัย

หลายคนเมื่อเกษียณ ช่วงแรกอาจรู้สึกไม่ดี เพราะไม่ต้องรีบตื่นเช้า แต่พอนานไป กลับเกิดความรู้สึก ตื่นแล้วไม่รู้จะทำอะไรดี เกิดความเซ็ง เบื่อ และไม่สบายใจ จนมีผลต่อสุขภาพจิต และทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา หรือบางคนรู้สึกว่า ยังทํางานได้ แต่ไม่ได้ทํางาน แล้วเกิดความคับข้องใจ

ด้านสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ

เป็นธรรมดา เมื่อเกษียณอายุ รายได้ต่าง ๆ ย่อมลดลงไปด้วย หากผู้เกษียณ ไม่กําหนดแผนการใช้จ่ายให้ดี หรือบางคนยังติดยึดอยู่กับตําแหน่งฐานะเดิม แม้เกษียณแล้ว ก็ยังพยายามทําตนให้เหมือนตอนที่ยังใหญ่โตอยู่ ทั้ง ๆ ที่รายได้น้อยลง ย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจได้

ดังนั้น ผู้เกษียณ จึงต้องทําใจอย่ายอมให้สังคม มาเป็นผู้กําหนด หรืออย่านําตัวไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น

ด้านสังคมและจิควิทยา

เมื่อเกษียณอายุ ภาพลักษณะของคนเราย่อมเปลี่ยนแปลงไป หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ตัวเองไร้ค่า ไร้ประโยชน์ เกิดความสูญเสีย เพราะไม่มีตําแหน่งหน้าที่ ไม่มีคนนับหน้าถือตา เช่นที่เคยมา ผู้คนที่เคยห้อมล้อมหายไป คนที่
เคยมาประจบก็เลิกประจบ ไม่เกรงอกเกรงใจอีกต่อไป เพราะไม่สามารถให้คุณให้โทษแก่เขาได้

ดังนั้น สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม รับมือวัยเกษียณ คือ การปรับตัวปรับใจ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo