Economics

‘กรมสรรพสามิต’ คาดงบปี 63 จัดเก็บภาษีได้ 5.2 แสนล้านบาท

“กรมสรรพสามิต” เผย 11 เดือนจัดเก็บรายได้รวม 503,882 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 35,185 ล้านบาท คาดงบประมาณปี 2563 จะจัดเก็บได้ประมาณ 520,000 ล้านบาท หลังยอดขายรถยนต์เริ่มขยับ การใช้น้ำมันสูงขึ้น

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตในรอบ 11 เดือน (ต.ค.62 – ส.ค.63) ยอดรวม 503,882 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 35,185 ล้านบาท หรือ 6.53% รายได้ภาษีจัดเก็บสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 206,797 ล้านบาท ภาษีรถยนต์ 77,791 ล้านบาท ภาษีเบียร์ 73,352 ล้านบาท ภาษีสุรา 56,652 ล้านบาท และภาษียาสูบ 58,186 ล้านบาท

นายพชร กล่าวว่า จากเป้าหมายจัดเก็บภาษี 501,000 ล้านบาท เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ประชาชนออกเดินทางไปท่องเที่ยว มีการใช้น้ำมันสูงขึ้น สะท้อนได้จากยอดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มขึ้น และยอดจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้น แม้จะมีปัญหาช่วงโควิด จึงคาดว่ายอดภาษีสรรพสามิตงบประมาณปี 2563 จัดเก็บได้ประมาณ 520,000 ล้านบาท

พชร2196311

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หากสูงมากเกินไปจะเป็นดาบสองคม ทำให้มีการลักลอบน้ำมันเข้าตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น กรมสรรพสามิตคาดว่า ปีงบประมาณ 2564 จัดเก็บภาษีได้ประมาณ 534,000 ล้านบาท หากไม่มีเหตุการณ์ปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบอย่างรุนแรง

“ในช่วงปัญหาโควิด เมื่อรัฐบาลผ่อนปรนภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องบินไอพ่น (น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ) สำหรับเที่ยวบินในประเทศ จากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร กำหนดถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 กรมสรรพสามิตจึงเตรียมเสนอกระทรวงการคลังพิจารณา ยอมรับว่าแม้จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่เพื่อลดภาระต้นทุนให้กับสายการบินส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงนี้” อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าว

ส่วนการช่วยเหลือสภาพคล่องธุรกิจสายการบินภายในตุลาคมนี้ ธนาคารออมสิน เตรียมวงเงินซอฟท์โลนปล่อยกู้ผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 60 เดือน เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาเร็วๆ นี้ เนื่องจากการท่องเที่ยวยังเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงปัญหาโควิด

ส่วนการจัดเก็บภาษีความเค็มนั้น นายพชร กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวมาจากนโยบายการขยายฐานภาษี และอีกส่วนก็เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนเอง แต่จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ รวมทั้งประชาชนได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงมองว่าในช่วงเวลานี้จึงยังไม่เหมาะสมที่จะมีการเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

“จากปัญหาโควิด ผู้ประกอบการยังมีผลกระทบ ประชาชนได้รับผลกระทบ อะไรที่ขยายฐานจะมีผลกระทบทั้งบวกและลบในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในช่วงเวลานี้ ยังไม่เหมาะสมที่จะเสนอรัฐบาลว่าจะขยายฐานภาษีอะไร” อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุข และกรมสรรพสามิตได้ร่วมกันหารือถึงเพดานการบริโภคโซเดียมในปริมาณต่อวันที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งหารือกับผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างแสดงความพร้อมที่จะปรับสูตรการผลิตให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีความเค็มแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo