Economics

‘มนูญ’ ชำแหละ GPSC ซื้อ GLOW – ปตท.ขายกาแฟ

“มนูญ ศิริวรรณ” นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “ปตท. องค์กรโจทก์เยอะ” ว่า

มนูญ ศิริวรรณ
ภาพเฟซบุ๊ก Manoon Siriwan

ปตท.ตกเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อถูกคุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ เดินสายยื่นหนังสือคัดค้านการที่กลุ่ม บมจ.ปตท. โดยบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอยี (GPSC) จะเข้าซื้อกิจการ บมจ. โกลว์ พลังงาน (GLOW) ต่อหน่วยงานต่างๆ ไล่ตั้งแต่สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอ้างว่าเป็นการดำเนินงานที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 75 ที่ห้ามรัฐทำธุรกิจแข่งกับเอกชน และเรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นข้อท้วงติงให้กับศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด

นอกจากเรื่องนี้แล้ว คุณกรณ์ยังแสดงความกังวลกับการที่บมจ.ปตท.น้ำมัน และการค้าปลีก (PTTOR) มีแผนจะขยายธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนออกไปนอกสถานีบริการน้ำมันของปตท.นั้น นับว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่ห้ามแข่งขันกับภาคเอกชนด้วยเช่นกัน

ในเรื่องของการเข้าซื้อกิจการของ GLOW มีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ GPSC ถือเป็นภาครัฐหรือไม่

GPSC เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นใหญ่สามราย คือ พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 22.73% ปตท. 22.58% และไทยออยล์ 20.79% รวมแล้วกลุ่มปตท.ถือหุ้นใน GPSC เท่ากับ 66.1%

ดูในแง่กฎหมายแล้ว GPSC ไม่เข้าข่ายเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะปตท.ถือหุ้นโดยตรงเพียง 22.58% ถึงแม้จะถือหุ้นทางอ้อมผ่าน PTTGC และไทยออยล์ ก็ไม่ถึง 50% อยู่ดี ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่ารัฐเข้ามาทำการค้าแข่งกับเอกชน

แต่ถ้าจะบอกว่าในแง่นโยบายกลุ่มปตท.ถือหุ้นใหญ่ สามารถกำหนดทิศทางการบริหารได้ และต้องทำตามนโยบายของรัฐ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐในเรื่องนี้ว่าจะเอาอย่างไร

maaaa

ส่วนที่พูดกันว่า GPSC เข้าซื้อ GLOW แล้วจะมีอำนาจเหนือตลาดนั้น ผมว่ายังห่างไกลจากความเป็นจริง เพราะปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,900 MW/GLOW 3,200 MW รวมกันแล้วอยู่ที่ 5,100 MW ในขณะที่กำลังการผลิตรวมของประเทศอยู่ที่ประมาณ 42,694 MW จึงเป็นไปไม่ได้ที่ GPSC จะมีอำนาจเหนือตลาด

ในส่วนของกาแฟอเมซอนก็เช่นกัน PTTOR ก็กำลังยื่น filing ขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีแผนที่จะกระจายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยมากกว่า 50%

ดังนั้นก็จะไม่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจอีกเช่นกัน และย่อมไม่ถูกผูกมัดที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 75 ของรัฐธรรมนูญ ยกเว้นแต่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่สั่งการมาผ่านบริษัทแม่คือปตท.

แต่ในความเห็นของผม ธุรกิจกาแฟเป็นธุรกิจเสริมที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปกับธุรกิจน้ำมัน และเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ non-oil ที่ทำให้ธุรกิจน้ำมันอยู่ได้ในปัจจุบัน

และเนื่องจากธุรกิจกาแฟเป็นธุรกิจที่มีผลกำไรและผลตอบแทนการลงทุนสูง จึงมีผู้สนใจมาลงทุนในธุรกิจนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ SME เพราะใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก

เมื่อปตท.สามารถสร้างแบรนด์ Café Amazon ให้ติดตลาดได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจึงมีผู้สนใจมาขอเป็นผู้ประกอบการ (Franchisee) กับปตท.กันเป็นจำนวนมาก จนต้องขยายออกนอกสถานีบริการ

และผมก็ไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมเราจะต้องหยิบยกเหตุข้ออ้างในรัฐธรรมนูญมากีดกั้นผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี เพียงเพราะเห็นว่าปตท.เป็นองค์กรที่ใหญ่เกินไป มีกำไรมากเกินไป หรือบางคนไม่พอใจในทุกอย่างที่ปตท.ทำ

สรุปก็คือเป็นองค์กรโจทก์เยอะนั่นเอง !!!

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight