The Bangkok Insight

ใกล้หมดสัญญา เล็งย้าย ‘สถานีขนส่งสายใต้’ กลับปิ่นเกล้า พัฒนาโปรเจ็คมิกซ์ยูส

“สถานีขนส่งสายใต้” ถนนบรมฯ นับถอยหลังหมดสัญญาใน 5 ปี “บขส.” เตรียมแผนย้ายกลับ “ปิ่นเกล้า” พื้นที่เดิม พัฒนาโปรเจ็คมิกซ์ยูส 4.6 พันล้านรองรับ

รายงานข่าวจาก บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า บขส. มีแผนจะย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี) หรือสายใต้ใหม่ กลับมาอยู่บริเวณเดิมคือ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) หรือสายใต้เก่า เนื่องจากสัมปทานจัดตั้งสถานีสายใต้ใหม่ในพื้นที่ของเอกชนจะหมดอายุลงในปี 2568 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า

ย้าย สายใต้ สถานีขนส่ง

ปัจจุบัน บขส. จึงได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) หรือสายใต้เก่าแล้ว

โดยทางจุฬาฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์และแนวคิดในการพัฒนากลับมายัง บขส. ภายใต้ชื่อ “โครงการ  Green Net ปิ่นเกล้า” ซึ่งมีแนวคิดจะพัฒนาเป็นสถานีขนส่งผู้โดยที่ทันสมัย พร้อมอาคารมิกซ์ยูส และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสีเขียวเพื่อชีวิตคนเมืองบนพื้นที่ขนาด 15 ไร่

“สัญญาสัมปทานสร้างสถานีสายใต้ใหม่จะหมดในปี 2568 ดังนั้น บขส. จึงต้องย้ายกลับมาที่สถานีสายใต้เก่าตามเดิม ซึ่งเป็นพื้นที่ของ บขส. เอง จึงต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงสายใต้เก่าให้ทันกับอายุสัมปทาน เบื้องต้นจะนำเสนอโครงการ Green Net ปิ่นเกล้า ให้อนุกรรมการพัฒนาทรัพย์สินพิจารณาอนุมัติภายในเดือนกันยายนนี้ และตั้งเป้าที่จะต้องเปิดขายซองประมูลในปี 2564 เพื่อให้สามารถก่อสร้างสถานีและพัฒนามิกซ์ยูส ให้เสร็จและเปิดให้บริการได้ทันในปี 2568” แหล่งข่าวกล่าว

ย้าย สถานีขนส่ง สายใต้
                           ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ สายใต้ใหม่ – ถนนบรมราชชนนี

สำหรับโครงการว่า Green Net ปิ่นเกล้า มีแนวทางการพัฒนาในลักษณะรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โดย บขส. ลงทุนที่ดิน ด้านเอกชนลงทุนก่อสร้างและพัฒนาโครงการมูลค่า 4,659 ล้านบาท ระยะเวลาในการออกแบบก่อสร้าง 4 ปี และสัมปทานมีอายุทั้งหมด 50 ปี

การพัฒนาพื้นที่จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน หรือ 3 อาคาร ได้แก่

  • อาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้อัจฉริยะ (Smart Station) ที่มีการนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาอำนวยความสะดวกในการให้บริการเดินรถแก่ประชาชน ชั้นที่ 1 จะเป็นสถานี ชั้นที่ 2 และ 3 จะทำเป็นห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร
  • อาคารที่พักอาศัย (คอนโดมิเนียม) แบบให้เช่าระยะยาว จำนวน 35 ชั้น
  • อาคารศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้พักฟื้นสุขภาพจากโรงพยาบาลโดยรอบ บุคคลกรโรงพยาบาล ผู้สูงวัย พนักงานบริษัทเอกชน และกลุ่มนักท่องเที่ยว

ตลอดอายุสัมปทาน บขส. จะได้รับผลตอบแทน 1,938 ล้านบาท แบ่งออกเป็น รายได้จากค่าธรรมเนียมปีแรก จำนวน 177 ล้านบาท, ค่าเช่า 50 ปี จำนวน 1,159 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายในการสร้างสถานีจำนวน 281 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไนจำนวน 320 ล้านบาท

ขอบคุณภาพปกและภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ สายใต้ใหม่ – ถนนบรมราชชนนี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo