Politics

ชุมนุม 19 กันยา: ‘ธนาธร’ ลั่นการต่อสู้ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่ครั้งนี้เราจะไม่แพ้

ชุมนุม 19 กันยา : “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ลั่นการต่อสู้เพื่อปฏิรูปประเทศต้องใช้เวลาอีกเป็น 10 ปี  แต่ครั้งนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป “เราจะไม่แพ้”

วานนี้ (19 ก.ย. 63) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า ได้เดินทางไปยังสนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และในวันเดียวกัน นายธนาธรได้ยังโพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีเนื้อหาปลุกใจผู้ชุมนุม ให้ร่วมต่อสู้เพื่อปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ โดยคาดว่าเรื่องนี้จะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่การต่อสู้ครั้งนี้มีความหวังมากที่สุดและ “เราจะไม่แพ้” เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีและบริบทต่างๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว

ชุมนุม 19 กันยา

19 กันยายน 2549 ถึง 19 กันยายน 2563 : ประสบการณ์ของผมกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย]

วันนี้เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ผมกำลังเจรจาธุรกิจอยู่กับบริษัทคู่ค้า เมื่อมีสายโทรศัพท์จากประเทศไทยโทรเข้ามาว่าเกิดการทำรัฐประหารขึ้น

เมื่อผมกลับถึงประเทศไทยในสัปดาห์ต่อมา ผมได้เข้าร่วมแสดงจุดยืนทางการเมืองต่อต้านการทำรัฐประหารกับกลุ่ม “19 กันยา” ตามแต่เวลาและโอกาสจะอำนวย

หลังจากนั้นผมก็พยายามมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อผลักดันวาระประชาธิปไตยอย่างแข็งขันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2550 และ 2560 ในกระบวนการประชามติ, การแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่เห็นด้วยการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อเปิดทางในเกิดการทำรัฐประหาร, การแสดงพลังในฐานะพลเมืองเข้าร่วมการเสวนาและการชุมนุมต่าง ๆ ของฝ่ายประชาธิปไตย (และได้รู้จักปิยบุตรครั้งแรกก็จากการเข้าฟังเสวนาของคณะนิติราษฎร์), ใช้คะแนนเสียงของตนเองลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2554, แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการบอยคอตการเลือกตั้งและการปิดคูหาการเลือกตั้ง

และนำมาสู่การรวมกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์คล้ายกันก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว

ม็อบสนามหลวง1

14 ปีผ่านมา ถึงแม้ว่าเรายังไม่สามารถสถาปนารัฐที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนได้ แต่วันนี้เรามีความหวังที่สุด

สายธารประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเริ่มต้นอีกครั้ง

บทใหม่ของการต่อสู้กำลังถูกเขียนขึ้นด้วยมือของประชาชนและคนหนุ่มสาว

และครั้งนี้ ภายใต้บริบททางสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะไม่แพ้

ทำความเข้าใจร่วมกัน ว่าวันนี้ไม่ใช่สงครามครั้งสุดท้าย แต่เราจะต้องต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันอีกยาว หากถอยหมดแรงระหว่างทาง คนหนุ่มสาวที่กล้าหาญก้าวออกมานำการต่อสู้จะไม่มีใครปกป้อง

มีแต่การแสดงพลังอย่างแข็งขัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สนับสนุนปกป้องกันและกัน ท้าทายอำนาจอยุติธรรมไปด้วยกัน พร้อมจะลงทุนลงแรงด้วยกันยาว ๆ เท่านั้น ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้

ประยุทธ์ ยิ้ม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เริ่มจากการล้ม “ระบบประยุทธ์” ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ และรายมาตราไปพร้อม ๆ กัน

ปฏิรูประบบราชการ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ จัดสมดุลให้อำนาจอิสระทางการบริหารและจัดงบประมาณแก่ท้องถิ่นมากขึ้น

ปฏิรูปกองทัพ ให้กองทัพเคารพในสิทธิมนุษยชน ปกป้องรักษาประชาธิปไตย และอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมถึงองค์กรอิสระ เพื่อไม่ให้ความยุติธรรมถูกใช้มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และสร้างการบังคับใช้กฎหมายสองมาตรฐานอีก

ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ยุติการผูกขาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมหาศาล กลุ่มทุนเหล่านี้สนับสนุนการทำรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า กลุ่มทุนเหล่านี้ไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอภิสิทธิ์ชนที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันกับผู้นำกองทัพ, ข้าราชการระดับสูง และชนชั้นนำจารีตมาตลอด

ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ต้องสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะทำให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่คู่สังคมประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน

จะทำทั้งหมดนี้ได้อาจต้องใช้เวลาอีกสิบปี ขอให้พวกเราประชาชนที่รักความเป็นธรรม ยืนเคียงข้างกัน ต่อสู้ร่วมกัน จนกว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นจริง

จนกว่าอำนาจสูงสุดจะเป็นของประชาชน

#19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร”

S 78241823

สื่อนอกจับตา “ชุมนุม 19 กันยา”

สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ให้ความสนใจกับการชุมนุม 19 กันยายน สถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองของไทย โดยเมื่อวานนี้ต่างรายงานข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในการต่อต้านรัฐบาล และเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย

สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอข่าว Thai protesters rally for big anti-government demonstration ระบุว่า ผู้ชุมนุมต้องการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (Prayuth Chan-ocha) ผู้นำกองทัพทำรัฐประหารในปี 2557 และเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเผด็จการทหาร ก่อนจะกลายเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการสนับสนุนจากกองทัพ

โดยสิ่งที่ต้องจับตามองคือ ผู้ชุมนุมบางส่วนต้องการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า รัฐบาลอนุญาตให้ชุมนุมและปราศรัยได้โดยเสรี เว้นก็แต่เรื่องที่พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น ที่ยอมรับไม่ได้

ส่วนเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ของฮ่องกง เผยแพร่บทวิเคราะห์ Thai protests: fears of violence as students gather in Bangkok near royal grounds ระบุว่า การที่นักศึกษามหาวิทยาลัย หรือแม้แต่นักเรียนระดับมัธยม ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ทำให้เกิดความกังวลว่า จะนำประเทศไทยกลับมาสู่วิกฤติทางการเมืองอีกครั้ง ซึ่งเป็นความขัดแย้งอันยาวนานตลอด 14 ปีที่ผ่านมา มีทั้งการใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และการชุมนุมบนท้องถนนที่มีการบาดเจ็บล้มตาย

ม็อบมธ.22

คู่ขัดแย้งเดิมในสังคมไทย คือ กลุ่มเสื้อแดงที่ศรัทธาใน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนถูกรัฐประหารในปี 2549 กับฝ่ายเสื้อเหลืองที่ต่อต้านทักษิณ และประกาศตัวว่า เป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ด้านสำนักข่าว TRT World ของตุรกี เสนอข่าว Thai protesters come out in big numbers to demand reforms ตอนหนึ่งระบุว่า การชุมนุมของนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่เริ่มก่อตัวขึ้นในเดือน กุมภาพันธ์ 2563 หลังศาลตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิทางการเมืองกับแกนนำพรรคเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 3 ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมในหมู่คนอายุน้อย แต่การชุมนุมถูกระงับไปในเดือน มีนาคม 2563 เมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และรัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo