Technology

เปิดแนวคิด 5 ผู้บริหารสตาร์ทอัพ ลุย ‘เทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G’

เทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G จาก 5 ผู้บริหารสตาร์ทอัพ ที่ NIA ปลุกปั้นพัฒนาวิสาหกิจ ต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ ๆ พร้อมช่วยแก้ปัญหาให้องค์กรธุรกิจ ยุคดิจิทัล

ปัจจุบัน ประเทศไทย อยู่ในยุคนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ พร้อมทั้งยังเป็นตัวเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอีกด้วยทำให้ธุรกิจก็ต้องปรับตัวตามให้ทัน ดังนั้น การนำ เทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G มาใช้จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์และช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้องค์กรธุรกิจได้

เทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G

นอกจากนี้ ยังช่วยให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ง่ายต่อการบริหารจัดการ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง เรียกได้ว่าเป็นอาวุธที่สำคัญในการทำธุรกิจในยุคนี้ ใครใช้เทคโนโลยีเป็น หรือเข้าถึงเทคโนโลยีได้มาก คนนั้นได้เปรียบแน่นอน

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA คือ หนึ่งในหน่วยงาน ที่ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการ ให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจ โดยได้ผนึกกับพันธมิตร เดินหน้าเพิ่มองค์ความรู้ ให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับเทคโนโลยีเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด NIA ได้ร่วมกับ หัวเว่ย ประเทศไทย ผู้จัดหาโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ชั้นนำระดับโลก จัดการอบรม บ่มเพาะสตาร์ทอัพ เทคโนโลยีเชิงลึก ด้าน 5G (Deep Tech Startup) ขึ้นเป็นปีที่ 2 ใน “โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G”

นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม NIA กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ NIA ได้ร่วมกับ หัวเว่ย ประเทศไทย พัฒนาด้านไอโอที คลาวด์ (IoT Cloud) มาแล้ว

ปริวรรต วงษ์สำราญ
ปริวรรต วงษ์สำราญ

แต่ขณะนี้ 5G เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามา และสามารถพัฒนาไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ได้ เช่น ด้านการแพทย์ การท่องเที่ยว และเอนเตอร์เทนเมนท์ นับเป็นการเปิดโอกาสให้ สตาร์ทอัพหน้าใหม่ นำเทคโนโลยีเหล่านี้ ไปใช้ทำผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ให้แก่ลูกค้ามากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้เปิดมุมมอง 5 ผู้บริหาร ที่เข้าร่วมในโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น เทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G และเป็นองค์กรที่มีความพร้อม ด้านการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยี พร้อมนำความรู้ไปต่อยอดได้จริง

เริ่มจาก ดร.สกล กงแก้ว ซีอีโอ บริษัท แอคทีฟ อินเทลลิเจนซ์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเกิดจากการรวมตัวของวิศวกร ด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อพัฒนาเทคนิคด้านไอโอที (IOT) ที่ยกเอาทุกโหมด มานำเสนอ ผ่านหน้าจอเดียว

สำหรับลูกค้าส่วนใหญ่ คือ องค์กร บริษัทที่ต้องการนำระบบไอโอที  ไปใช้ลดต้นทุนในการดำเนินงาน หรือนำไปประยุกต์กับผลิตภัณฑ์เดิม ทำให้เกิดสินค้านวัตกรรมใหม่

11 1

ส่วนการเข้าร่วมโครงการกับ NIA อัพเดทความรู้เรื่อง 5G ที่กำลังจะมาในเร็วๆ นี้ เพื่อนำความรู้มาพัฒนาธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะส่วนตัวแล้ว เชื่อว่า โลกเปลี่ยนไป ธุรกิจต้องเปลี่ยนตาม สิ่งหนึ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ นอกจากความรู้แล้ว ยังได้มาพบเจอกับนักธุรกิจจำนวนมาก ที่มีแนวธุรกิจเดียวกัน เกิดการแลกเปลี่ยนต่อยอดในธุรกิจ

ต่อด้วย ธีระเดช กุศลธรรมรัตน์ ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เวริลี วิชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจระบบอ่านหมายเลขทะเบียนรถ และอ่านเลขตู้คอนเทนเนอร์อัตโนมัติโดยเทคโนโลยี เอไอ เล่าว่า ความรู้ทางด้าน 5G เป็นสิ่งจำเป็นมากๆ กับบริษัท

ทั้งนี้ เพราะหากได้ 5G เข้ามาจะช่วย ในเรื่องของการลดต้นทุน ในการติดตั้งฮาร์ดแวร์ต่างๆ ที่อยู่หน้าไซต์งานจำนวนมาก สามารถบริหารจัดการได้ที่ส่วนกลางแบบรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนได้ ทำให้เรียลไทม์ สะดวก รวดเร็ว ขึ้นด้วย

ที่สำคัญ บริษัทเตรียมตัวขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศด้วย จึงเข้าร่วมโครงการกับ NIA เพื่อเสริมความรู้ก่อนขยายธุรกิจจริง

เทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G

ขณะที่ ศรายุทธ์ ศุภโชคภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลูชาร์ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทคือ tech company ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน software development ลูกค้า คือ ผู้ให้บริการมือถือ และอินเทอร์เน็ต และโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงกลุ่มพลังงาน

ศรายุทธ์ มองว่า 5G จะช่วยให้สามารถ บริหารจัดการกระบวนการผลิต ในอุตสาหกรรมมากขึ้น มอนิเตอร์ได้ง่ายขึ้น ไอโอที แพลตฟอร์ม สามารถดึงข้อมูลอื่นๆ จากหลายที่มารวมไว้ที่ส่วนกลางได้ สามารถวิเคราะห์ พยากรณ์กระบวนการผลิตต่างๆ ล่วงหน้าได้

ตัวอย่างเช่น การประเมินความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ดังนั้น 5G มีส่วนสำคัญมาก ๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจทำงานง่ายขึ้น จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับ NIA

ดร.คุณานนต์ กิตติพุฒิ  หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เรบุส จำกัด เล่าว่า สาเหตุที่มาเข้าร่วมโครงการ เพราะต้องการหาแนวร่วมลงทุนเครื่องตรวจจับโควิด-19 แบบเรียลไทม์ รวมถึงการพัฒนาเลเซอร์ห้ามเลือด และเลเซอร์ให้ยาชา ต้องการความรู้โซลูชั่นใหม่ๆ เพิ่ม ด้วย และอยากนำความรู้เรื่อง 5G ไปพัฒนาธุรกิจให้เรียลไทม์ขึ้น

ปิดท้ายด้วย อนวัช โชคดีเป็นเลิศ Product Owner  บริษัท บิลค์ วันกรุ๊ป จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อดีของการมาเติมความรู้ 5G กับโครงการของ NIA คือ ช่วยให้ง่าย ในการอัพเดทความคืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเดินไปตรวจงานที่หน้างาน เพราะสามารถใช้ 5G ในการตรวจงานผ่านวิดีโอคอลได้เลย รวมถึงใช้ในการเก็บข้อมูลออนไลน์ได้ บริหารต้นทุนได้ บัญชี การเงิน เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo